‘กระต่ายหยก-2’ หลับใหลในห้วงราตรี หลังลุยสำรวจดวงจันทร์ 660 วัน

2020-10-26 14:15:35

‘กระต่ายหยก-2’ หลับใหลในห้วงราตรี หลังลุยสำรวจดวงจันทร์ 660 วัน

Advertisement

ปักกิ่ง, 24 ต.ค. (ซินหัว) — ศูนย์การสำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศประจำองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยว่ายานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวของภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 เปลี่ยนไปใช้โหมดหยุดเคลื่อนที่ (dormant mode) ในช่วงกลางคืนของดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากปฏิบัติภารกิจอย่างมีเสถียรภาพเป็นวันที่ 23 ของดวงจันทร์

ศูนย์ฯ เผยว่ายานลงจอดเข้าสู่โหมดหยุดเคลื่อนที่ตามแผนเมื่อ 09.40 น. ของวันศุกร์ (23 ต.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง ส่วนยานสำรวจพื้นผิวอวี้ทู่-2 (Yutu-2) หรือ “กระต่ายหยก-2” เข้าสู่โหมดดังกล่าวเมื่อ 00.00 น. ของวันศุกร์ (23 ต.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

ทั้งนี้ 1 วันและ 1 คืนบนดวงจันทร์จะเท่ากับ 14 วันและ 14 คืนบนโลก โดยยานฉางเอ๋อ-4 จะเปลี่ยนเป็นโหมดหยุดเคลื่อนที่ในช่วงเวลากลางคืนบนดวงจันทร์เนื่องจากไม่มีแสงอาทิตย์สำหรับผลิตพลังงาน และเมื่อนับถึงวันเสาร์ (24 ต.ค.) ยานปฏิบัติภารกิจบนด้านไกลของดวงจันทร์มานานถึง 660 วันของโลก ส่วนยานสำรวจท่องด้านไกลของดวงจันทร์ถึง 565.9 เมตร




ในวันที่ 23 ของดวงจันทร์ ยานอวี้ทู่-2 เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่บริเวณหินบะซอลต์หรือหลุมอุกกาบาตที่มีการสะท้อนแสงสูง และระหว่างทางได้ใช้เครื่องถ่ายภาพสเปกโตรมิเตอร์รังสีอินฟราเรดเพื่อตรวจวัดก้อนหินดวงจันทร์ก้อนหนึ่งซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร โดยขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกส่งมา

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจวัดรังสีบนดวงจันทร์ครั้งแรก โดยมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ พร้อมด้วยข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจจับรังสีนิวตรอนที่ติดตั้งไปด้วย



ผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส (Science Advances) ระบุว่าพื้นผิวของดวงจันทร์มีกัมมันตภาพรังสีระดับสูง คิดเป็นราว 2-3 เท่าของสถานีอวกาศนานาชาติ ราว 5-10 เท่าของเที่ยวบินพลเรือน และราว 300 เท่าของพื้นผิวโลกในกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการประเมินความอันตรายจากรังสีบนพื้นผิวดวงจันทร์ และการออกแบบเพื่อการป้องกันรังสีสำหรับนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ในอนาคต

ทั้งนี้ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2018 ก่อนลงจอดอย่างนุ่มนวลบนปากปล่องภูเขาไฟฟอน คาร์เมน (Von Karman Crater) บริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) บนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2019