กมธ.พิจารณาร่าง รธน. ส่งผลศึกษา“ชวน”สัปดาห์หน้า

2020-10-20 14:05:45

กมธ.พิจารณาร่าง รธน. ส่งผลศึกษา“ชวน”สัปดาห์หน้า

Advertisement

กมธ.พิจารณาร่าง รธน. ส่งผลศึกษาให้ “ชวน”สัปดาห์หน้า "ชัยวุฒิ"ชี้การแก้ไขต้องรอบคอบ ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่รัฐสภา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา แถลงความคืบหน้าในการประชุมว่า กมธ.จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ให้เสร็จภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามกำหนดเวลา 30 วัน คาดว่าจะส่งให้สภาได้ในวันที่ 26 - 27 ต.ค.นี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภา บรรจุระเบียบวาระการประชุม และคาดว่าจะพิจารณาได้สัปดาห์หน้าหรือต้นเดือนพ.ย.นี้ ดังนั้นการทำงานของ กมธ.จึงเป็นไปตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความเห็นเรื่องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ความเห็นยังเป็น 2 แนวทาง คือ 1.สามารถทำได้โดยการตั้ง ส.ส.ร. และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.ยังทำไม่ได้ เพราะขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในอดีตเมื่อปี2555 ว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อนจะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจในวันที่พิจารณารับหลักการอีกครั้ง ส่วนญัตติอื่นๆกมธ.ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และหาข้อสรุปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจต่อไป 

โฆษก กมธ.กล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่องไม่ใช่ว่าเราอยากจะแก้ได้ทุกเรื่อง นอกจากจะพูดถึง มาตรา 256 ยังมี มาตรา 255 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำมิได้ ซึ่งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเราต้องพิจารณา มาตรา 255 ประกอบด้วย เราจึงเขียนในญัตติของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ว่าเราจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ก็มีกระแสของบุคคลบางกลุ่มที่อยากให้แก้ทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะขัดกับ มาตรา 255 ดังนั้น การดำเนินการต่างๆจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสามารถทำได้ในทางกฎหมายด้วย 

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถพิจารณาได้ทันในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าวันไหน แต่ตามปกติก่อนจะนัดประชุมรัฐสภา ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งหากเป็นช่วงต้นสัปดาห์ ตนคิดว่าไม่ทัน แต่อาจจะเป็นปลายสัปดาห์หรือต้นสัปดาห์ถัดไปอาจจะทัน ซึ่งตนคิดว่าการจะรอไปอีกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ไม่น่าจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาอยู่แล้ว ไม่ใช่ 1-2 วันแล้วจะเสร็จ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จึงอยากให้ประชาชนอดทน และยอมรับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ และใช้กันมาตั้งแต่ปี 2560 

“สมาชิกรัฐสภาทุกคนเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญอาจมีบางประเด็น บางมาตรา ที่ต้องแก้ไข และยินดีที่จะแก้ไข แต่ประเด็นที่มีความเป็นห่วงตอนนี้ คือเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้ถกเถียงกันนานเป็นพิเศษ" นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย โฆษก กมธ. กล่าวว่า เสียงใน กมธ.ขณะนี้ยังแตกเป็น 2ฝ่ายคือ ส.ว.เห็นว่าไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ขณะที่เสียงส.ส.เห็นว่า สามารถตั้ง ส.ส.ร.ได้ ไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา อะไรที่สามารถถอยกันได้ อยากให้ถอยกัน เพื่อให้สถานการณ์การเมืองเบาลง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะลาออก แต่เรื่องก็ไม่จบ เพราะข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมไปไกลกว่านั้น อีกทั้งถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่มา ก็ต้องมาจากกติกาเดิม อาจจะเกิดการไม่ยอมรับอีก 

“ถามว่าใครอยากมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤติเช่นนี้ สถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นขณะนี้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว เพราะถ้าเกิดการปฏิวัติขึ้นมา ทุกคนในประเทศจะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด”นายณัฏฐ์ชนน กล่าว