มติพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เห็นพ้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ คลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง ด้าน "สุทิน" เสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ “วิรัช”เดินหน้าเร่งสรุปผล กมธ.พิจารณาร่างแก้ไข รธน. 22 ต.ค.นี้
เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 19 ต.ค. ที่บริเวณชั้น 3 อาคารัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อาทิ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย เป็นต้น รวมถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน ก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญปกติในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อให้สภาหาทางออกให้กับบ้านเมืองจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยใช้เวลา 2 ชม.30 นาที
จากนั้นเวลา 11.30 น. นายชวน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกันของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ส่วนใหญ่ยืนยันต้องการให้เปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งตนจะรีบทำหนังสือไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แจ้งให้ทราบว่าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอยากให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ
เมื่อถามถึง กระแสข่าวว่าได้มีการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น นายชวน กล่าวยอมรับว่า ได้พูดคุยกันตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว
ต่อมาเวลา 11.35 น. นายวิรัช ประธานวิปรัฐบาล และนายสุทิน ประธานวิปฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม โดยนายวิรัช แถลงว่า ทุกฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าจะต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯเพื่อขอเปิดประชุม อย่างไรก็ตามนับจากวันนี้ไปถึงวันที่จะมีการเปิดประชุใสภาสมัยสามัญที่2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งเหลือเวลาอีก11 วัน แต่ในที่ประชุมเห็นว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะช้าหรือเร็ว 1 หรือ 2 วันก็มีค่าทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง
นายวิรัช กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่ให้นายกรัฐมนตรีขอไปยังประธานรัฐสภานั้น นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าต้องมีเหตุและผลในการเสนอ และจะต้องเสนอวันปิดด้วย เพราะเพิ่งมีคำประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญออกมาวันที่ 9 ต.ค. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเปิดสภาในวันที่ 1 พ.ย. ดังนั้น หากจะเสนอไปเกรงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณาเรื่องนี้
เมื่อถามว่า หากการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้วไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้จริงหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า หากจะให้มีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ทางคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา ก็ต้องเร่งสรุปรายงานเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งกมธ.พิจารณา 6 ร่างของส.ส.แล้ว ส่วนร่างที่ 7 ของไอลอว์เราก็จะพยายามเร่งเพื่อให้นำมาพิจารณารวมกันคราวเดียว จึงขอฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่
ด้านนายสุทิน ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้หารือว่าเมื่อเปิดแล้วจะอภิปรายเรื่องใดบ้าง ก็ได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการพูดเรื่องการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หลายคนเสนอให้ยกเลิก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะเราต้องการจะทำพร้อมกับร่างของไอลอว์ ซึ่งจะได้บรรจุวาระในวันที่22 พ.ย.นี้ ส่วน 6 ร่างของส.ส.ที่เสนอไปแล้ว กมธ.ได้ขอขยายเวลาในการศึกษา ซึ่งอาจจะไม่ทัน อย่างไรก็ตามทางใดที่จะสามารถเร่งเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ก็อยากจะให้ทำ
“เราอยากให้การเปิดสภาสมัยวิสามัญในครั้งนี้เน้นการพูดจาสาระล้วนๆ เพราะไม่อยากให้สังคมกังวลว่าเปิดแล้วก็มาทะเลาะด่ากัน แต่เปิดเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ หาทางตอบสนองต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ก็ต้องทำ” นายสุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ส.ว.มาร่วมอภิปรายต่อปัญหาต่างๆหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ความจริงแล้วในที่ประชุมทุกคนก็อยากจะให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ส.ว.มาร่วมด้วย เว้นแต่หากทำไม่ได้จริงก็เปิดประชุมเฉพาะส.ส.เท่านั้น ซึ่งหากประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถส่งหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในวันนี้ (19 ต.ค.) ก็สามารถนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม.ในวันที่ 20 ต.ค.ได้เลย หากมีมติว่าจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็เชื่อว่าทำได้ ซึ่งก็อยู่ที่ขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ
เมื่อถามย้ำว่า หลายคนมองว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญไม่ได้จริงใจในการเปิดประชุม เป็นเพียงการลดทอนสถานการณ์การชุมนุมเท่านั้น นายสุทิน กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เราไปแสดงความไม่จริงใจไม่ได้ เราจะไปเล่นเกมอะไรกันไม่ได้อีกแล้ว เรายืนยันว่าต้องแสดงความจริงใจและตรงไปตรงมา