“หมอเจี๊ยบ” หนุนแถลงการณ์ 5 ข้อ ของแพทย์ 386 คน หลังรถพยาบาลไม่สามารถผ่านแนวกั้นของ จนท.ได้

2020-10-18 10:15:55

“หมอเจี๊ยบ” หนุนแถลงการณ์ 5 ข้อ ของแพทย์ 386 คน หลังรถพยาบาลไม่สามารถผ่านแนวกั้นของ จนท.ได้

Advertisement


ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ “หมอเจี๊ยบ ลลนา” ขอร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ 5 ข้อ จากคณะบุคลากรทางการแพทย์ 386 คน ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ หลังมีกรณีรถพยาบาลไม่สามารถผ่านแนวกั้นของ จนท. ได้

เรียกได้ว่าเป็นคลิปวิดีโอที่มีพูดถึงและแชร์ต่อๆ กันอย่างล้นหลามเลยทีเดียว สำหรับวิดีโอรถพยาบาลที่ไม่สามารถขับผ่านแนวกั้นของกลุ่มเจ้าหน้าที่ เพื่อนำส่งผู้ป่วยไปทำการรักษายังโรงพยาบาลได้โดยสะดวก ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของม็อบคณะราษฎรเมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่าน ซึ่งหลังจากที่กรณีดังกล่าวถูกพูดถึงและเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างแล้วนั้น ในเวลาต่อมา บุคลากรทางการแพทย์ 386 คน จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ก็ได้ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ไว้จำนวน 5 ข้อ






และล่าสุด (17 ต.ค. 2563) บุคลากรทางการแพทย์และนักแสดงสาวอย่าง “หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์” ก็ได้นำเอาแถลงการณ์ทั้ง 5 ข้อ จากบุคลากรทางการแพทย์ 386 คน มาเผยแพร่ต่อ พร้อมกันนี้เจ้าตัวก็ยังขอร่วมสนับสนุน 5 ข้อแถลงการณ์ดังกล่าว โดยได้เผยผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวตัวว่า....

“มีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ รวมถึงทัศนคติทางการเมือง ขอร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ 5 ข้อดังกล่าว จากคณะบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง ที่ได้ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบให้เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี”






ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวทั้ง 5 ข้อ จากคณะบุคลากรทางการแพทย์ 386 คน ก็ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ ต่อผู้ชุมนุมเป็นการรับฟังอย่างสันติวิธีและขอให้ เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ไว้ดังนี้

1. โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค

2. การดูแลการชุมนุมต้องปฎิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล หลักความได้สัดส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น




3. การใช้รถยิงน้ำยังผสมสารเคมียิงไปยังผู้ชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงโดยสภาพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายเพื่อบังคับมาตรการนี้อย่างเป็นธรรมได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ แรงดันที่เกิดจากน้ำมีระดับสูง สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่กายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

4. งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

5. เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

(อ่านข่าว : แพทย์ 386 คนออกแถลงการณ์กรณีสลายการชุมนุม 16 ต.ค.)

ติดตามข่าวบันเทิงเพิ่มเติม 





ขอบคุณรูปจากอินสตาแกรม : jeab_lalana