สื่อต่างชาติเกาะติด รายงานข่าวการประท้วงในไทย

2020-10-15 15:00:20

สื่อต่างชาติเกาะติด รายงานข่าวการประท้วงในไทย

Advertisement


สื่อยักษ์ใหญ่ต่างชาติทุกสำนัก ทั้งซีเอ็นเอ็น บีบีซี รอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี รายงานสถานการณ์การประท้วงในไทย ว่า รัฐบาลไทยจับกุมตัวแกนำการประท้วงคนสำคัญหลายคน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสลายการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ที่รุมเร้าประเทศมานานกว่า 3 เดือนแล้ว โดยสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยในเวลา 04.00 น. ถูกประกาศใช้หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และฝ่าแนวกั้นตำรวจนอกทำเนียบรัฐบาลในช่วงดึกวันพุธ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์



สาระสำคัญ ระบุว่า โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน

รัฐบาลยังอ้างว่า กลุ่มผู้ประท้วงมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เป็นเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย คลิปวิดีโอจากสถานที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็น เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งตะโกนและแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว เลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง “Hunger Games” ขณะรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 เคลื่อนขบวนผ่านอย่างช้า ๆ



รัฐบาลแถลงในคำสั่งว่า มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติสถานการณ์นี้อย่างได้ผล และรักษาความสงบและความเรียบร้อยอย่างทันท่วงที

เหตุผลหนึ่งสำหรับมาตรการฉุกเฉิน คือการประท้วงทำลายเศรษฐกิจของประเทศ และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพียงรายเดียวในรอบมากกว่า 4 เดือน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ประท้วงไป 22 คน หลังการประท้วงเมื่อวันพุธ ซึ่งรวมทั้งแกนนำการประท้วง 3 คน คืออานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เพนกวิน และรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

หลังสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ไม่นาน ตำรวจปราบจลาจลก็สลายกลุ่มผู้ประท้วงจากบริเวณด้านนอกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งบางคนพยายามขัดขืน ตำรวจหลายร้อยนายเคลื่อนกำลังเข้าสู่ถนนหลังผู้ประท้วงถูกสลาย คำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังควบคุมสื่อ ห้ามเผยแพร่ข่าวที่อาจสร้างความตื่นกลัว หรือจงใจบิดเบือนข้อมูล สร้างความเข้าใจผิด ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ หรือความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้ง ยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ขัดขวางประชาชนไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ที่กำหนดไว้ด้วย