นายกฯตั้ง “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้ารับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

2020-10-15 11:30:16

นายกฯตั้ง “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้ารับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

Advertisement

นายกฯประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงพื้นที่ กทม. ตั้ง “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้ารับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ กทม.โดยมีเนื้อหาสรุปว่า มีบุคคลหลายกลุ่มเชิญชวนปลุกระดมให้มีการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชุมนุมสาธารณะในพื้นที่ กทม.ก่อให้เกิดความปั่นป่วนไม่สงบเรียบร้อย มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนินอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคง มิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวเพื่อให้ยุติ อาศัยอำนาจตามความตามมาตรา 5 มาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายร้ายในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 36/2563  เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง  โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน


 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11  แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548  โดยมีเนื้อหาสรุปว่า  เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้ยุติลงโดยเร็ว และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้  ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุม ณ ที่ใดๆตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทบการใดอันเป็นการยุยงไม่ให้เกิดความสงบเรียบร้อย  ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใด  รวมทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย รวมถึงห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไขตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด นอกจากนี้ ห้ามใช้หรือเข้าไปในสถานที่ใดๆ และให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนด  ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  มีเนื้อหาว่า ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับ กุม ควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้กระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเท่าที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดๆกระทำการอันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดๆมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรืออายัดอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อาวุธ สินค้า และอุปกรณ์อุปบริโภค บริโภค กรณีมีเหตุสงสัยว่าใช้เพื่อกระทำส่งเสริมให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้นรื้อถอนหรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้างตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ