"ไพบูลย์”ชี้ รธน.ปี 60 ให้อำนาจรัฐสภาแก้รายมาตรา ไม่ใช่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....ก่อนรับหลักการ รัฐสภา โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เป็นประธาน อาทิ ประเด็นการจัดทำประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ เป็นต้น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การประชุม กมธ.วันนี้ก็คงไม่มีการลงมติเกี่ยวกับคณะอนุ กมธ.ด้านกฎหมาย แต่จะรับฟังความเห็นของ กมธ.แต่ละท่านว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะมีความเห็นแตกต่างจากคณะอนุ กมธ.ก็ได้ เพราะความเห็นของ กมธ.ชุดใหญ่ อาจจะมองเห็นต่างจากอนุ กมธ.ก็ได้ ซึ่งตนก็มองเห็นแตกต่าง แต่ก็คงจะไม่มีการลงมติ แต่จะทำบันทึกไว้เพื่อเสนอรายงานต่อที่ประชุม ซึ่งส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ได้ โดยในหมวดที่ 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 มาตรา 256 ก็มีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขเป็นรายมาตรา และระบุไว้ชัดเจนว่าจะยกเลิกมาตราใด และจะเปลี่ยนไปใช้ข้อความใด เป็นหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ในส่วนตัวมองว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ ถ้าจะมีต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เท่าที่ตรวจสอบพบว่าไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 57 ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นมีบัญญัติเอาไว้ในส่วนที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งบัญญัติไว้หลายมาตรา และก็จะมีในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้เมื่อพบว่ามีปัญหาก็ให้แก้ไขซึ่งจะตรงกับรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 256 แต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ปี 57 ให้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยมี กมธ.ยกร่าง หรือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะสาเหตุเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อบัญญัติแล้ว หลังจากตนดูรายละเอียดแล้วก็เชื่อว่าการที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราเท่านั้น ซึ่งเมื่อแก้ไขแล้วก็ต้องเป็นรัฐธรรมนูญปี 60 อยู่เช่นเดิม แต่เป็นเพียงแค่ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่เท่าไหร่ และแก้ไขมาตราใด ก็จะปรากฏอยู่ถ้าหากมีผลบังคับใช้
เมื่อถามว่า การให้ส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดโดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของการตั้งส.ส.ร.นั้น ไม่ได้เป็นส่วนที่กำหนดอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่แท้จริงรัฐธรรมนูญก็ให้เขียนองค์กรย่อยของสภาไว้อยู่แล้ว เขียนในมาตรา 129 ว่าด้วยการตั้ง กมธ.ของสภา ดังนั้นหากจะมีการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อที่จะเสนอเป็นญัตติเข้าไปก็สามารถใช้กลไกของรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ได้ในการที่จะตั้งสภาขึ้นมาซ้อนสภา ส่วนตัวมองว่าตรงนี้ไม่มีช่องที่จะเปิดให้ทำได้ เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่หาก กมธ.ไม่ได้ข้อสรุป นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในชั้นนี้ยัง เป็นเพียงการพิจารณาข้อกฎหมายร่วมกัน