ประธานอนุ กมธ. ชี้เสียงข้างมากยันตั้ง ส.ส.ร.ไม่ขัด รธน.

2020-10-14 12:53:34

ประธานอนุ กมธ. ชี้เสียงข้างมากยันตั้ง ส.ส.ร.ไม่ขัด รธน.

Advertisement

ประธานอนุ กมธ. ชี้เสียงข้างมากยันตั้ง ส.ส.ร.ไม่ขัด รธน. ทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่รัฐสภา นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมวันนี้ทางอนุ กมธ.จะรายงานต่อ กมธ.ชุดใหญ่ โดยเสียงข้างมากในอนุกมธ.เห็นว่าประเด็น มาตรา 256 ไม่ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติใดที่ห้ามการที่จะพิจารณาให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)มายกร่าง และการที่บัญญัติไว้ในมาตรา256(8) ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้ โดยหากมีการแก้ไขใน(8) ก็ต้องไปทำประชามติ ซึ่งการออกเสียงประชามติใน(8)บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเดิมไม่เคยมี คือหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไปถามประชามติ ซึ่งการดำเนินการได้ดำเนินการให้คล้องกับคำวินิจฉัยที่18-22 /2555 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการทำประชามติจะทำเพียงในสภาไม่ได้ต้องไปถามประชาชน เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อต้องลงประชามติก็ถือว่าเรากลับไปหาผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราดำเนินการตามบทบัญญัติใน มาตรา 256 ที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม และการลงประชามติในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการทำเมื่อผ่านวาระที่ 1,2และ 3 แล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อนที่รัฐสภา จะพิจารณาก่อนรับหลักการได้”นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวว่า ส่วนเสียงข้างน้อยในอนุกมธ. ที่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะไม่มีบทบัญญัติรับรอง และการออกเสียงประชามติ ถ้าวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญก็ควรทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณารับหลักการด้วย โดยการให้รัฐบาลขอเสียงประชามติ ด้วยการจัดรับฟังความเห็นผ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งอนุกมธ. ก็จะเสนอให้กมธ.ชุดใหญ่รับทราบด้วยเช่นกัน ส่วนการตัดสินใจลงมติ จะขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อย่างไรก็ตามการทำประชามติจะต้องถามคำถามเดียวว่าร่างนี้ประชาชนเห็นเป็นประการใด ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตกไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการทำประชามติจะไม่ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น เพาะกฎหมายประชามติยังไม่มีเลย สิ่งที่ต้องรายงานอีกอย่างคือ การแก้ไขเพิ่มเติมโดยส.ส.ร.จะทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีเหตุในกรณีที่ส.ส.ร.ไปแก้หมวด1 และหมวด 2 ก็จะมีการรายงานว่า หากส.ส.ร.ไปแก้ก็จะทำให้ร่างนั้นตกไป โดยสภาฯเป็นผู้วินิจฉัย และสภาพของร่างนั้นตกไป ยังมีผลทำให้ ส.ส.ร.สิ้นสภาพด้วย