ยุโรปคุมโควิด-19 ไม่อยู่ ติดเชื้อพุ่งทำสถิติ จ่อล็อคดาวน์รอบ 2

2020-10-14 07:00:06

ยุโรปคุมโควิด-19 ไม่อยู่ ติดเชื้อพุ่งทำสถิติ จ่อล็อคดาวน์รอบ 2

Advertisement

หลายประเทศในยุโรปหนีไม่พ้น เตรียมพิจารณาการกลับมาล็อคดาวน์รอบใหม่ ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ยอดติดเชื้อทั่วโลกเฉียด 38 ล้านคนทั่วโลก

ยุโรปกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรุนแรงครั้งใหม่ ซึ่งหลายประเทศติดเชื้อรายวันทำสถิติใหม่ โดยสาธารณรัฐเช็ก กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันเสาร์ มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 8,618 คนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นสถิติใหม่ที่สูงกว่าตัวเลขในวันพฤหัสบดีถึง 3,000 คน และยังทำสถิติสูงสุดรายวันเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในสัปดาห์นี้ เตรียมประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายพื้นที่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งจะมีการปิดโรงเรียน, บาร์และคลับไปจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน นอกจากนี้ จะมีการปิดร้านอาหาร แต่สามารถส่งอาหารตามบ้าน และซื้อกลับบ้านได้จนถึงเวลา 20.00 น. ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะถูกห้าม ขณะที่หอพักนักศึกษาจะถูกปิดเป็นการชั่วคราว และการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งหมด จะให้เรียนที่บ้านผ่านอินเตอร์เน็ตแทน ยกเว้นเรียนอนุบาล ที่จะยังคงเปิดการเรียนการสอนตามปกติ แต่ก็จะมีมาตรการพิเศษนำมาใช้เพื่อดูแลสุขภาพเด็กเป็นพิเศษ

ขณะที่มาตรการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งก่อนหน้านี้สวมเฉพาะในร้านค้าและขนส่งมวลชนเท่านั้น มาตรการใหม่นี้ จะต้องสวมที่ป้ายหยุดรถรางและชานชาลารถไฟด้วย ส่วนการรวมกลุ่มพบปะสังสรรค์ของประชาชนไม่ว่าจะในสถานที่ปิดหรือเปิด อนุญาตได้ไม่เกิน 6 คนเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเช็ก มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 1,097 รายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม และจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในวันเดียว อยู่ที่ 52 รายเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาธารณเช็กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่สูงสุดในอียูเมื่อเทียบประชากร 100,000 คน




ในรายงานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป หรืออีซีดีซี ระบุว่า สาธารณรัฐเช็กมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 14 วันที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 55,538 ราย สูงกว่าเยอรมนีประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 42,032 ราย แต่ประชากรเยอรมนีมากกว่า 8 เท่า

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐเช็ก ใช้มาตรการคุมเข้มอย่างรวดเร็ว ปิดพรมแดนและบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยด้วย แต่ในปลายเดือนมิถุนายน มาตรการคุมเข้ม ซึ่งรวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ถูกยกเลิก และมีการจัดปาร์ตี้ขนาดใหญ่ที่ชาร์ลส์ บริดจ์ ในกรุงปราก เพื่อฉลองงานที่พวกเขาเรียกว่า เป็นการสิ้นสุดวิกฤตไวรัสโควิด



ส่วนในเนเธอร์แลนด์ ก็มีการประกาศล็อคดาวน์บางส่วนของประเทศ และบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ จะปิดบาร์, ร้านอาหารและคาเฟ่ ขณะที่รัฐบาลดัทช์ พยายามควบคุมการระบาดของโควิด ซึ่งเนเธอร์แลนด์ ก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มข้นได้ นายกรัฐมนตรีมาร์ค รูทท์ ผู้นำเนเธอร์แลนด์ ประกาศ “ล็อคดาวน์บางส่วน” ในช่วงเย็นวันอังคาร หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทำสถิติ 7,393 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมทั้งสิ้น 43,903 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 150 ราย

มาตรการใหม่นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธ จะบังคับปิดบาร์, ร้านอาหารและคาเฟ่ทั้งหมด และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 20.00 น. นอกจากนี้ จะบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิดทุกแห่ง

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ โดยโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เตียงผู้ป่วยหนักอาจถูกจับจองเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นสุดสัปดาห์หน้านี้



ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส คาดว่าจะประกาศมาตรการคุมเข้มเพิ่มเติมอีกในการปราศรัยทางโทรทัศน์ในวันพุธนี้ตามเวลาท้องถิ่น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า หลายเมืองกำลังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ซึ่งรวมทั้งกรุงปารีส อาจมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในเวลาเย็นด้วย

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำหญิงของเยอรมนี แถลงว่า เธอเฝ้าดูสถานการณ์ในยุโรปด้วยความวิตกกังวลอย่างมาก และกล่าวเพิ่มเติมว่า เธอต้องบอกว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสในยุโรป ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง

ด้านรัฐบาลอิตาลก็ออกคำสั่งควบคุมการพบปะสังสรรค์ทั้งที่บ้านและสถานที่สาธารณะ จำกัดธุรกิจบาร์ และการแข่งกีฬาและกิจกรรมในโรงเรียน ขณะที่การติดเชื้อไวรัสกลับมาพุ่งขึ้นทั่วประเทศอีก คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจุซเซปเป คอนเต ผ่านในช่วงเย็นวันจันทร์ และเผยแพร่ในช่วงเช้าวันอังคาร มาตรการคุมเข้มใหม่นี้เป็นความพยายามที่จะจัดการโควิด-19 เพราะมีแนวโน้มว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มสูงในระดับเดียวกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมาตรการใหม่นี้ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันพุธนี้ เป็นเวลา 30 วัน กำหนดเงื่อนไขให้บาร์และร้านอาหาร เปิดให้บริการได้จนถึงเที่ยงคืนสำหรับการให้บริการตามโต๊ะ แต่ไม่สามารถให้พนักงานมายืนให้บริการตามโต๊ะได้ ทั้งภายในและนอกสถานที่หลังเวลา 21.00 น. เพราะที่ผ่านมา การรวมตัวพบปะสังสรรค์กันเป็นกลุ่มใหญ่ของประชาชนนอกบาร์และร้านอาหาร มีส่วนทำให้การติดเชื้อไวรัสพุ่งสูงขึ้น

มาตรการใหม่ของนายกรัฐมนตรีคอนเต มีขึ้นเพียงวันเดียว หลังดร.ทีดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ออกมาประณามบรรดานักการเมืองที่สนับสนุนวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 พร้อมประกาศว่า การกระทำดังกล่าว “ผิดศีลธรรม” และ “ไร้จรรยาบรรณ”



ด้านข้อมูลล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ เมื่อวันอังคาร ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลก อยู่ที่เกือบ 38 ล้านคน เสียชีวิต 1 ล้าน 8 หมื่นคน อันดับ 1 ยังเป็นสหรัฐฯ ที่ 7.8 ล้านคน เสียชีวิต 2.15 แสนคน อินเดียติดเชื้อ เกือบ 7.2 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 1.1 แสนคน บราซิลมาเป็นอันดับ 3 ของโลก ยอดติดเชื้อ 5.1 ล้านคน เสียชีวิต 1.5 แสนคน