อนุ กมธ.ยันแก้ รธน. ไม่ขัดต่อ รธน. ทำประชามติครั้งเดียวก่อนทูลเกล้าฯ

2020-10-09 13:00:16

อนุ กมธ.ยันแก้ รธน. ไม่ขัดต่อ รธน. ทำประชามติครั้งเดียวก่อนทูลเกล้าฯ

Advertisement

อนุ กมธ. เสียงข้างมากชี้แก้ รธน. ไม่ขัดต่อ รธน. ทำประชามติก่อนนายกฯ ทูลเกล้าฯ แจงแก้ รธน.ปี 60 ไม่ใช่การยกร่างใหม่ 

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา(ชพน.)ในฐานะโฆษกอนุกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวถึงข้อสรุปของอนุ กมธ.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อนุ กมธ.เสียงข้างมาก ที่เป็น ส.ส.และนักวิชาการ ได้ข้อสรุปแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการ มาตรา 256 แต่มีเสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว.เห็นว่า ยังขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)

นายนิกร กล่าวถึง ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติว่า กรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นว่า การทำประชามติ ให้ทำหลังผ่านการแก้ไขใน วาระที่ 3 ก่อนที่นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการในมาตรา 256 วรรคแปด แต่เสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว. เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ก่อนรับหลักการ และก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนความเห็นของวุฒิสภาที่เห็นว่าควรจะดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติก่อนรับหลักการนั้น ตนมองว่ากระบวนการยังอยู่ในชั้นนิติบัญญัติที่ไม่มีอำนาจจัดการออกเสียงประชามติและขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายการออกเสียงประชามติด้วย รวมถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ซึ่ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการ มีเวลาพิจารณาเพียง 30 วันเท่านั้น โดยอนุ กมธ.จะนำข้อสรุปความเห็นทั้งหมดเสนอต่อกมธ.ชุดใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้  เมื่อถามถึง ข้อกังวลที่ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวข้องกับรูปแบบรัฐ และพระมหากษัตริย์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจมีกรณีที่ไปกระทบต่อพระราชอำนาจนั้น นายนิกร กล่าวว่า ทางกมธ.จะหารือกันอีกครั้งว่าหากเกิดกรณีดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในปี 2556 ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า จะต้องจัดทำประชามติเพื่อขอความเห็นประชาชน ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น นายนิกร กล่าวว่า เป็นคนละประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะกรณีดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ทำประชามติก่อน ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน เห็นว่าสามารถทำได้เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติไว้อยู่แล้ว ส่วนการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศ ไม่ได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเป็นฉบับที่ 21 แต่อย่างใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

แม่จะฟ้อง !! คนปล่อยคลิปเสียง "ซาร่า" หัวร้อนกับ "ไมค์" เตรียมรับหมายศาล 

โพสต์เพื่อหลอกใคร ? คนใกล้ชิดแจงภาพอัลตร้าซาวนด์ "ซาร่า" ที่แท้มีสาเหตุ 

“ลีเดีย” เช็กปอดอีกครั้ง หลังรักษาโควิด-19 หาย พบถุงลมเป็นแผล - ยังไม่หายดี !