ย้อนประวัติ"วัดหงส์รัตนาราม"สุดสำคัญสมัย"กรุงธนบุรี"

2020-10-08 15:25:02

ย้อนประวัติ"วัดหงส์รัตนาราม"สุดสำคัญสมัย"กรุงธนบุรี"

Advertisement

ไขปริศนา "ผบ.ตร.-ผบ.ทบ." เข้าพิธีอุปสมบทที่ "วัดหงส์รัตนาราม" เผยสุดสำคัญตั้งแต่สมัย "กรุงธนบุรี" 

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการพระราชวัง และอดีต ผบ.ทบ. เข้าพิธีอุปสมบทที่ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร แขวงวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร จึงมีคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดอดีต ผบ.ตร. และ อดีต ผบ.ตร. จึงต้องไปเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแห่งนี้ ทีมข่าว NEW18 จึงค้นหาคำตอบทำให้ทราบว่า วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า วัดหงส์รัตนาราม เป็นที่วัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เรียกชื่อว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร จ่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เรียกชื่อ ว่า วัดหงส์อาวาศวรวิหาร ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานสร้อยนามวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหารใหม่ จนเป็นหลักฐานสืบมาจนวันนี้ว่า วัดหงส์รัตนาราม ซึ่งในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 4 ได้กล่าวไว้ว่า เดิมเป็นพระอุโบสถหลังเก่าวัดหงส์ฯ ครั้งก่อนสมัยอยุธยา เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ ขยายทั้งตัววัด และสร้างพระอุโบสถใหม่

จากหลักฐานประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 ว่าด้วยพระเจดีย์วิหาร ที่ทรงสถาปนาในรัชกาลที่ 4 เรื่องที่ 15 โดยมีเนื้อความว่า "วัดหงส์รัตนาราม วัดนี้ตามเดิมว่า วัดเจ้าขรัวหงส์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นวัดหงสาราม จากนั้นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเขมาภิรตาราม โปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์ฯ แต่ยังไม่ทันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิสังขรณ์จนสำเร็จ และพระราชทานนามว่า วัดหงส์รัตนาราม คำสร้อยนามวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร นั้น มีความหมาย 2 ประการ คือ "รัตน" แปลว่า "แก้ว" ประการหนึ่ง และคำว่า "อาราม" ซึ่งแปลว่า "วัด" อีกประการหนึ่ง เมื่อนำคำทั้ง 2 มารวมกันจึงได้ความหมายว่า "วัดท่านแก้ว"




ส่วนมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสร้อยนามวัดหงส์ฯ นั้น เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า แก้ว เป็นการถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบรมราชอัยกี ผู้เป็นพระบุพการีของพระบรมราชชนนี พระราชอนุชา และพระองค์ท่าน ตามธรรมเนียมนิยมของพุทธสานิกชน เมื่อบำเพ็ญบุญกุศลแล้วจึงอุทิศผลบุญอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงเคยอุปถัมภ์ และปฏิสังขรณ์มาในอดีต โดยทรงคุ้นเคยกับสถานที่และเสด็จบำเพ็ญกุศลเป็นประจำในขณะที่ทรงพระชนม์อยู่

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้ถูกจัดลำดับศักดิ์เป็น พระอารามหลวงชั้นโท และมีฐานะเป็นพระอารามชั้นราชวรวิหาร ตามพระบามราชโองการประกาศ เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวงเป็น ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นสามัญ โดยมีสร้อยนามตามฐานะเป็น ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร วรวิหาร โดยลำดับ ลงวันที่ 30 ก.ย.พุทธศักราช 2458 วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร จึงได้สร้อยว่า วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร มาจนถึงปัจจุบัน



ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 มีหลักฐานยืนยันตรงกันอีกว่า ครั้งมาเมื่อกรุงธนบุรี พระสงฆ์ผู้รู้หลักนักปราชญ์มาอยู่กันเป็นจำนวนมาก พระเจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรี จึงขยายภูมิวัดออกไป แล้วสร้างพระอุโบสถใหญ่ตรงหน้าพระอุโบสถเก่า แล้วสร้างโรงธรรมหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถใหม่ สร้างฐานใหญ่เท่ากันทั้ง 2 หลัง ตั้งอยู่อย่างนั้นนานมาจนถึงเวลาแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปีพุทธศักราช 2333 สมเด็จพระลูกยาเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าจุ้ย) ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสด็จผนวช ณ วัดหงษ์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร) นี้ เมื่อพระชนม์ครบอุปสมบทตลอดจนพระราชนิกูลและข้าใต้สำนัก ล้วนแต่อุปสมบทวัดแห่งนี้เกือบทั้งสิ้น และนอกจากนี้ สมเด็จพระอัครมเหสี (หอกลาง) กรมหลวงบาทบริจาสอน และพระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา ได้เสด็จบำเพ็ญกุศลฟังเทศน์ถือศีลปฏิธรรมอยู่ ณ วัดแห่งนี้

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มักเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถ หลังว่างจากพระภารกิจเสมอ วัดหงษ์อาวาสวิหาร จึงนับว่าเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง และสวยงามวัดหนึ่งในยุคสมัยนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ประชาชนในละแวกใกล้เคียง จึงพร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นที่ริมคลองคูวัดเชิงสะพานข้ามคลองหน้าวัดด้านทิศตะวันตก เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์เป็นแห่งแรก และปรากฏเป็นที่สักการะเคารพของประชาชนในท้องถิ่นแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คือ ศาลเจ้าพ่อตากวัดหงส์ฯ นอกจากทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างศาสนวัตถุอื่นแล้ว พระองค์ทรงนำความเจริญทางด้านการศึกษา วางไว้เป็นฐานรากแห่งพระพุทธศาสนาที่วัดหงษ์อาวาสวิหาร หรือวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร จึงเป็นแหล่งสรรพวิชาบ่มเพาะความรู้ขั้นสูงในยุคสมัยนั้น และเป็นชุมนุมสงฆ์ผู้รู้หลักนักปราชญ์แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นต้นมา

ติดตามข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม