เลือกตั้งสหรัฐฯ: ทำไมผู้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดอาจไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

2020-10-05 15:35:00

เลือกตั้งสหรัฐฯ: ทำไมผู้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดอาจไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

Advertisement

บีบซี ไทย : ปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ฮิลลารี คลินตัน เกือบ 3 ล้านเสียง สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง นั่นเป็นเพราะระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เมื่อชาวอเมริกันออกไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือน พ.ย. พวกเขาไม่ได้ลงคะแนนเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน โดยตรง แต่เป็นการไปออกเสียงเลือก "คณะผู้เลือกตั้ง" ที่จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ

แต่ละรัฐของสหรัฐฯ มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้น




ปัจจุบันคณะผู้เลือกตั้งมีจำนวน 538 คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ คือ 270 เสียงขึ้นไป เพื่อจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

ในรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าก็จะได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด เช่นรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ว่าผู้สมัครจะชนะด้วยคะแนนเสียงประชาชน 99% หรือ 51% แต่ก็จะได้รับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งของรัฐไปทั้งหมด 55 เสียง

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมผู้สมัครอาจได้คะแนนจากผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า แต่กลับได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากคณะผู้เลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ 




สิ่งนี้เกิดซ้ำ 2 ครั้ง ในการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ 5 ครั้งล่าสุด แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประวัติศาสตร์ ดังนั้นการหาเสียงจึงมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ในการคว้าคะแนนเสียงในรัฐสำคัญเพื่อดึงคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งให้ได้ถึง 270 เสียง

แต่ใครกันที่มาเป็นคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้

พวกเขาคือประชาชนที่ได้รับการเสนอชื่อจาก 2 พรรคการเมืองหลัก แต่ละรัฐคัดเลือกโดยมีกฎเกณฑ์ต่างกันไป ก่อนจะได้รับเลือกอย่างเป็นทางการในวันเลือกตั้ง

คณะผู้เลือกตั้งถูกคาดหมายให้เป็นเสมือนตรายางรับรองผู้สมัครชิงประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในรัฐนั้น ๆ แต่ในบางรัฐ คณะผู้เลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่พวกเขาก็มักจะไม่ทำเช่นนั้น



ในช่วงหลายปีนี้ มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบนี้ แต่เมื่อยังไม่เกิดขึ้น คณะผู้เลือกตั้งก็ยังคงอยู่ต่อไป