กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ยืนยันการแชร์ข่าวแม่ค้าปลาทูนึ่งเป็นมะเร็งมือ เป็นข่าวปลอมปลาทูนึ่งแม่กลองต้มในน้ำเกลือถนอมอาหารตามภูมิปัญญาในอดีตไม่ใช้สารกันบูด
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลอ้างคำเตือนจากแม่ค้าปลาทูนึ่ง ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่มือ โดยหมอจัดยาตามอาการและแนะนำให้คนไข้ระวังสารเคมี แม่ค้ากระซิบบอกหมอว่า "ปลาทูนึ่งไม่จำเป็นต้องกินมาก เพราะแม่ค้าใส่สารกันบูดมากถ้าไม่ใส่ก็ขาดทุนปลาจะเน่า แม่ค้าเป็นห่วง เพราะแม่ค้าเป็นมะเร็งเพราะใส่สารกันบูดกับปลาทูเยอะจนตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบตามโรงนึ่งปลาทู เช่น ที่ ร้านเจ้มาลีปลาทูนึ่ง ริมถนนบายพาส ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ได้พบกับนายไพศาล ฉายศรี อายุ 56 ปี ชาวตำบลลาดใหญ่ ซึ่งยึดอาชีพการนึ่งปลาทูมากว่า 30 ปี กำลังเตรียมนึ่งปลาทู โดยเริ่มด้วย การควักไส้แล้วล้างน้ำประปาให้สะอาดก่อนจะนำลงไปแช่เกลือประมาณ 10 นาที และหักคอลงเข่งๆละ 2 ตัว ก่อนจะนำไปต้มในน้ำเหลือที่เดือดจัด 5-15 นาที แล้วแต่ขนาดของปลาทู นำขึ้นมาแพ็คด้วยพลาสติกสำหรับอาหาร เพื่อป้องกันฝุ่นละอองรอจำหน่ายให้ลูกค้า
นายไพศาล กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากการนึ่งปลาทูแม่กลอง เป็นการถนอมอาหารโดยการต้มด้วยน้ำเกลือ ที่ใช้เกลือทะเลที่มีคุณภาพของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เป็นอันตรายอยู่แล้ว สมัยก่อนไม่มีสารกันบูดปลาทูนึ่งก็ยังอยู่ได้นาน อีกทั้งเกลือสมุทรก็ไม่ใส่สารฟอกขาว จะแยกสีตามธรรมชาติ หากเป็นเกลือสีดำที่อยู่ชั้นล่างดินพื้นนาเกลือจะนำไปใช้โรยต้นไม้ ส่วนเกลือที่ใช้จะเป็นเกลือสมุทรคุณภาพ จะเป็นธรรมชาติดีที่สุด จึงยืนยันว่าปลาทูนึ่งปลอดภัยแน่นอน ส่วนกรณีที่แชร์ในโลกโซเชียลนั้นตนเชื่อว่าน่าจะเป็นกรณีอื่นมากกว่า ไม่ใช่ปลาทูนึ่งแน่นอน
ด้าน เภสัชกรภานุโชติ ทองยัง หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า เมื่อพบข้อมูลที่แชร์ผ่านทางโลกโซเชียล ทำให้เกิดความตกใจว่า ปลาทูนึ่งมีการใส่สารกันบูดจริงหรือไม่ ตนเป็นตัวแทนที่ดูแลปลาทูนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องไม่จริง เพราะกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งแม่กลองไม่ใส่สารกันบูดแต่อย่างใด ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสถานที่การผลิตปลาทูนึ่งมาโดยตลอด ไม่พบพฤติกรรมดังกล่าว อีกทั้งการผลิตปลาทูนึ่งไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด เพราะกระบวนการนึ่งจะนำปลาทูไปจุ่มลงในน้ำเกลือที่เดือดจัด เป็นการถนอมอาหาร ที่อธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ หากปลาทูนึ่งเหลือข้ามวัน ก็จะนำมาจุ่มซ้ำอีกครั้งในน้ำเกลือเดือดเช่นเดิม ซึ่งอาจทำให้มีรสเค็มขึ้นบ้าง และหากนำสารกันบูดมาใส่ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่คุ้มกับการใส่สารกันบูด นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการผลิตปลาทูนึ่งบรรจุแบบสูญญากาศ ใส่ตู้เย็นเก็บได้นานเป็นเดือน
ส่วนประเด็นการกินปลาทูนึ่งแล้วเป็นโรคมะเร็ง ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะผู้ที่เป็นมะเร็งต้องมีสารเคมีอยู่ในร่างกายมากมาย และมีพฤติกรรมอื่นๆด้วย จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าการกินปลาทูนึ่งแล้วเป็นโรคมะเร็ง
ส่วนประเด็นข้อมูลที่แชร์ เป็นรูปมือของฝรั่งที่เป็นมะเร็งผิวหนังไม่ได้เกี่ยวกับปลาทูนึ่งแต่อย่างใด ส่วนภาพปลาทูนึ่งก็เป็นภาพทั่วไปที่ค้นหาในกูเกิล หัวปลาทูก็อยู่ทางเดียวกัน หากเป็นปลาทูแม่กลองหัวกับหางจะสลับกันเพื่อยัดใส่เข่ง จึงสรุปได้ว่ามีคนประดิษฐ์ภาพและเรื่องราวขึ้นมา โดยที่ไม่มีข้อมูลวิชาการรองรับ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลวิชาการแล้วก็ไม่เป็นไปตามที่กล่าวถึงเช่นกัน จึงขอให้ผู้บริโภคสบายใจได้ว่าปลาทูนึ่งแม่กลอง ไม่ได้ใส่สารกันบูดและไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังตามที่เป็นข่าวลวงดังกล่าวแต่อย่างใด