อาร์เซอร์ไบจาน-อาร์มีเนียปะทะเดือด

2020-09-28 06:25:48

อาร์เซอร์ไบจาน-อาร์มีเนียปะทะเดือด

Advertisement


มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 ราย เป็นทหารอย่างน้อย 16 ราย และที่เหลือเป็นพลเรือนในการปะทะกันครั้งหนักหน่วงที่สุดระหว่างอาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจานตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในภูมิภาคคอเคซัสใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่วางท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติออกสู่ตลาดโลก โดยการปะทะกันดุเดือดระหว่าง 2 ประเทศอดีตสาธารณรัฐของโซเวียต ซึ่งเคยทำสงครามกันในช่วงทศวรรษที่ 1990 ถือเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานในภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค ดินแดนกบฏที่นานาชาติยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ในทางปฏิบัติ ภูมิภาคดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอาร์มีเนีย ดินแดนแห่งนี้แยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจาน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จนทำให้เกิดการต่อสู้กันและมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และความขัดแย้งรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน

กรณีพิพาทเหนือดินแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ระหว่างอาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจาน ปะทุขึ้นด้วยการต่อสู้กันอย่างดุเดือดอีกครั้งในวันอาทิตย์ มีรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์หลายลำ ถูกยิงร่วง และรถถังหลายคันถูกทำลาย



ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า เขามั่นใจว่าจะสามารถยึดคืนดินแดนกบฏแห่งนี้ได้ มีการประกาศกฎอัยการศึกในหลายภูมิภาคของอาเซอร์ไบจน และในอาร์มีเนีย และภูมิภาค นากอร์โน-การาบัค ด้วย

ความขัดแย้งในบริเวณเทือกเขาคอเคซัส ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขมานานกว่า 30 ปี ซึ่งทำให้เกิดการต่อสู้เรื้อรังมาตลอด ก่อนหน้านี้ การปะทะกันตามแนวพรมแดนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย กระตุ้นให้เกิดการประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีในกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีกระแสเสียงเรียกร้องให้ยึดคืนดินแดนแห่งนี้



กระทรวงกลาโหมอาร์มีเนีย แถลงว่า การโจมตีเขตที่อยู่อาศัยของพลเรือนในนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งรวมทั้งเขตสเตปานาเกิร์ต เมืองหลวงของภูมิภาคแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นในเวลา 08.10 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 11.10 น.ของวันอาทิตย์ตามเวลาในไทย เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีผู้หญิงและเด็ก เสียชีวิตด้วย ขณะที่ รัฐบาลแบ่งแยกดินแดนในนากอร์โน-คาราบัค กล่าวว่า มีทหาร 16 นายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 100 นาย

อาร์มีเนีย บอกอีกว่า ยิงเฮลิคอปเตอร์ตก 2 ลำและโดรนอีก 3 ลำ รวมทั้งทำลายรถถังไป 3 คัน รัฐบาลอาร์มีเนีย ประกาศกฎอัยการศึก และเคลื่อนกำลังทหารเตรียมความพร้อม หลังจาากมีการประกาศในลักษณะเดียวกันนี้โดยเจ้าหน้าที่ภายในภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค ทั้งนี้ กฎอัยการศึก เป็นมาตรการฉุกเฉิน ซึ่งภายใต้มาตรการนี้ กองทัพจะเข้าคุมอำนาจและทำหน้าที่แทนรัฐบาลพลเรือน

นายกรัฐมนตรีนีกอล พาชีนียัน ของอาร์มีเนีย กล่าวหลังจากกล่าวหาอาเซอร์ไบจาน วางแผนรุกรากไว้ก่อนแล้วว่า พร้อมที่จะปกป้องดินแดนมาตุภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา เตือนว่า ภูมิภาคนี้เข้าใกล้ “สงครามเต็มรูปแบบ” และกล่าวหาตุรกีว่า “มีพฤติกรรมก้าวร้าว” เขาเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไร้เสถียรภาพมากไปกว่านี้

จากการเปิดเผยของคณะอัยการอาเซอร์ไบจาน ระบุว่า มีสมาชิก 5 คนของครอบครัวเดียวกัน เสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่ของอาร์มีเนีย ที่ยิงถล่มหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอาเซอร์ไบจาน ขณะที่ กระทรวงกลาโหมของอาเซอร์ไบจาน ก็ยืนยันสูญเสียเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง แต่ก็บอกว่า ลูกเรือรอดชีวิต และรายงานว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอาร์มีเนีย 12 แห่งถูกทำลาย และปฏิเสธความสูญเสียอื่น ๆ ที่มีรายงานในสื่อของอาร์มีเนีย ซึ่งประธานาธิบดีอาลีเยฟ แถลงว่า เขาได้สั่งให้ปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีของกองทัพอาร์มีเนียแบบเต็มรูปแบบแล้ว



ความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาด เนื่องจากคอเคซัสใต้ หรือเซาท์ คอเคซัส เป็นเส้นทางของท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทะเลแคสเปียน ไปยังตลาดโลก

ประธานาธิบดีเรเซฟ เทย์ยิป เออร์โดวาน ของตุรกี ให้คำมั่นสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน ระหว่างการเกิดวิกฤตครั้งใหม่นี้ ขณะที่รัสเซีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของอาร์มีเนีย เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงทันทีและหันหน้าเจรจากันเพื่อทำให้เกิดเสถียรภาพ