ศาลให้ "วัฒนา"ประกัน 10 ล้าน กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ด้าน "วัฒนา"เตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ เป็นเวลา 99 ปี แต่ให้จำคุกสูงสุด 50 ปี ปรับ 1,323 ล้าน ชำระภายใน 30 วัน หากไม่ชำระยึดทรัพย์ จากนั้นทางทนายความและญาติได้ยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท เป็นบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท เเละเงินสดอีก 5 ล้านบาท ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้นายวัฒนา ประกันตัวออกไป โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ด้านนายวัฒนา กล่าวว่า ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยวางหลังทรัพย์ 10 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต โดยศาลให้เหตุผลเชื่อว่า ตนเองไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และจากการฟังคำตัดสินมองว่า ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะองคณะผู้พิพากษาอาจจะมองคนละอย่างกับตนเอง ซึ่งก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย และวันนี้ดีใจที่โทษสูงแต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว อาจจะเป็นเคสแรก โดยตนไปกราบเรียนศาลว่าคดีนี้ตนเป็นคนว่าความเองและเตรียมคดีเอง เอกสารหลักฐานอยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ มีหลายหมื่นหน้า หากไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตนจะอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะในเรือนจำไม่ให้เอาเครื่องมือสื่อสารเขาไป ซึ่งการอุทธรณ์คดีนั้น ไม่ได้มีหลักฐานใหม่ แต่จะเป็นการอุทธรณ์คัคค้านดุลพินิจของศาล เช่นข้อเท็จจริงที่เห็นไม่ตรงกับศาล ซึ่งก็เคารพความเห็นต่างอยู่แล้ว แต่ก็เป็นสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าจะเห็นอย่างไร โดยจะยื่นคำร้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ซึ่งยังยืนยันว่า ตนเองมั่นใจในการสู้คดี เพราะหากดูภาษากายที่ผ่านมา ตนเองมีความเชื่อมั่น และเชื่อในสิ่งที่ทำว่าถูกต้อง ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวหาและรอวันนี้มาถึง 14ปี ไม่หนีแน่นอน และคดีนี้ตนเองรู้ดีทุกอย่างว่าทำอะไร ไม่ได้กังวลอะไร
นายวัฒนา บอกด้วยว่า การที่สามารถยื่นอุทรณ์ในคดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560นั้น ไม่ถือว่าเป็นการได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่า หลักการอุทธรณ์เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ดังนั้นหากเป็นสมาชิกของยูเอ็นจะต้องยอมรับในกฎกติกาและต้องเอามาปฏิบัติ เอามาแก้กฎหมาย มางั้นไม่สามารถเป็นสมาชิกได้ และในกติกาเขียนไว้ด้วยว่า การพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่าไม่ได้ทำ รวมถึงการอุทธรณ์ในคดีอาญาจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลที่สูงกว่า แต่นี่ต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพราะคดีตั้งต้นที่ศาลฎีกา ทั้งที่ความจริงต้องตั้งต้นที่ศาลอุทธรณ์ ถึงจะถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยทุกคนทั่วโลก ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 60 จึงไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับตนเอง