กกต.แจงยิบปม 32 พรรคกู้ยืมไม่เงินผิดกฎหมาย

2020-09-24 12:45:58

กกต.แจงยิบปม 32 พรรคกู้ยืมไม่เงินผิดกฎหมาย

Advertisement

สำนักงาน กกต.แจงยิบปม 32 พรรคกู้ยืมเงินไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 เหตุกู้เงินไม่เกิน 10 ล้าน ส่วน 3 พรรคกู้เกินเกิดตั้งแต่ปี 2555

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) ได้ออกเอกสารข่าว "การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดรายการบัญชีที่เกี่ยวข้อง กับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง" ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าว กรณี นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมือง จำนวน 32  พรรคการเมือง ที่กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมืองแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในเรื่องดังกล่าว นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า การแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวข้างต้นยังมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินงานของนายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการนี้จึงขอให้ข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง จำนวน 32 พรรคการเมือง ดังนี้

1.การกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ของพรรคการเมืองตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563  ดังนี้

1.1 สถานะของเงินกู้ยืม เงินกู้ยืมมิใช่เป็นรายได้ของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 แต่เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

1.2 รายรับถือเป็นประโยชน์อื่นใดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า หรือการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือเป็นการได้เงินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายซึ่งโดยปกติต้องจ่าย ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 4 และต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45  วรรคสอง และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการบริจาคและการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 และมาตรา 72

1.3 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา66  กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ มาตรา 72 กำหนดให้การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

2. ในการตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองนับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว พบว่า มีพรรคการเมือง จำนวน 3 พรรคการเมือง ที่มีงบการเงินประจำปี 2561  ปรากฏรายการกู้ยืมเงินเกินกว่า 10ล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 30 ล้านบาท พรรคประชากรไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 12 ล้านบาท และพรรคเพื่อไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 13 ล้านบาท เป็นกรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าวกู้ยืมเงินมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีการใช้เงินคืน  ซึ่งเป็นยอดหนี้คงค้างไว้ในงบการเงินประจำปี 2561 และในแต่ละปีเป็นยอดเงินกู้ยืมไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี จึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72

3. กรณีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง งบการเงินของพรรคการเมือง ประจำปี 2561 ซึ่งได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไปแล้ว จำนวน 79 พรรคการเมือง  รวม 609  หน้า ซึ่งในภายหลังได้ตรวจสอบพบว่า มีเอกสารบันทึกข้อความเกี่ยวกับการรายงานการรับบริจาคเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดลงประกาศไปด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับงบการเงินของพรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงนำเอกสารบันทึกข้อความเกี่ยวกับการรายงานการรับบริจาคออกจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้เอกสารงบการเงินของพรรคการเมือง เหลือจำนวน 608  หน้า ทั้งนี้ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4. เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองมีการสลับหน้ากัน เนื่องจากในขั้นตอนการจัดทำไฟล์อิเล็กทรอนิกส์งบการเงินของพรรคการเมืองดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเอกสารจำนวนมากจึงต้องแยกเอกสารเป็น 13 ชุด เพื่อสแกนเอกสาร โดยในขั้นตอนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกิดความคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามลำดับของชุดเอกสารดังกล่าว ทำให้ไฟล์เอกสารสลับหน้ากัน เป็นเหตุให้เอกสารงบการเงินของพรรคการเมือง จำนวน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย) พรรคพลังประชาธิปไตย พรรคพลเมืองไทย (พรรคพลังพลเมืองไทย) พรรคไทยธรรม พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังสังคม เรียงลำดับไม่ต่อเนื่องกัน แต่เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองทั้ง 79 พรรค ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่ยังมีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนตามที่พรรคการเมือง แต่ละพรรคได้จัดส่งมา ซึ่งงบการเงินของพรรคการเมืองต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรอง และต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติและหัวหน้าพรรคการเมืองต้องรับรองความถูกต้อง ร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมืองก่อนจัดส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งต้องสอดคล้องกับรายงานการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและระบบบัญชีของพรรคการเมือง จึงไม่มีผู้ใดจะไปแก้ไขงบการเงินของพรรคการเมืองที่ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ผิดไปจากงบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเห็นชอบได้ ทั้งนี้ เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองที่มีการสลับหน้ากันดังกล่าวข้างต้นสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งจะได้ดำเนินการแก้ไขในส่วนที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับลำดับเอกสารให้ถูกต้องต่อไป