"ก้าวไกล" เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.116

2020-09-23 18:50:00

"ก้าวไกล" เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา  ม.116

Advertisement

"ก้าวไกล" เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา  ม.116  ชี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองคุกคามประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเตรียมยื่นเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ โทษของการยุยงปลุกปั่น เพื่อไม่ให้มาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองในการคุกคามประชาชน โดยระบุว่า มาตรา 116 หรือที่เรียกว่าเป็นโทษของการยุยงปลุกปั่นได้กลายเป็นกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง ที่ถูกนำมาใช้เป็นครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ตีความได้กว้าง เพราะการใช้คำว่า เพื่อให้เกิดความกระด้าง กระเดื่อง และ เพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมาย ทำให้รัฐบาลใช้มาตรา 116 ฟ้องประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลหลายสิบคดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, กลุ่มคนรณรงค์ประชามติสมัยรัฐบาล คสช. มาจนถึง กลุ่มผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษา และ ประชาชนปลดแอก ถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องเกือบทุกคดีที่ฟ้องในสมัยรัฐบาล คสช. แต่รัฐบาลก็ยังใช้มาตรานี้อย่างต่อเนื่องเหตุผลเพราะเป็นโทษอาญาหมวดความมั่นคง ที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ทำให้ตำรวจสามารถขอศาลเพื่อออกหมายจับได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อน และทำให้ศาลต้องเรียกเงินประกันตัวที่สูงหลักแสนบาท ซึ่งเป้าหมายของกระบวนการนี้คือการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ คุกคามต่อแกนนำผู้จัดชุมนุมและผู้ที่แสดงความเห็นแตกต่างต่อรัฐบาล

นายวรภพ กล่าวว่า การดำเนินคดีลักษณะนี้คือการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ข้อกฎหมายของมาตรา 116 ที่ตีความได้กว้างจนเกินเจตนารมย์ของโทษอาญา หมวดความมั่นคงของรัฐ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ควรจะต้องแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของมาตรานี้  พรรคก้าวไกล จึงขอยื่นแก้ไข ประมวลอาญา มาตรา 116 เพื่อทำให้ข้อกฎหมายมีความชัดเจน และยุติการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกรัฐบาล โดยในร่างกฎหมายที่เสนอต้องการเปลี่ยนข้อกฎหมายที่มีความคลุมเครือหรือตีความอย่างกว้างได้ จากการยุงยง ‘เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง’ และ ‘เพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมาย’ จะแก้ไขให้กลายเป็นเฉพาะ ‘เพื่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นหรือประชาชน หรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือสาธารณะ’ และลดโทษจำคุกจาก7 ปี เหลือเพียง 3 ปี ให้เหมาะสมกับโทษทางอาญาอื่นๆ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยการให้ตำรวจออกหมายจับได้ โดยไม่ต้องใช้หมายเรียกได้อีก สำหรับความคืบหน้า วรภพ กล่าวว่า ขณะนี้ทางพรรคก้าวไกลได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.20 รายชื่อ เพื่อยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างแก้ไข มาตรา 116  โดยดำเนินตามขั้นตอนของรัฐสภา เพื่อผลักดันให้แก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวมีความชัดเจน และเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารหรือตำรวจใช้อำนาจ โดยมิชอบ เพื่อปิดปากประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับมาตรา 116 ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต 

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย 

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ 

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี