รัฐสภาถกแก้ไข รธน. "เสรีพิศุทธ์” อัดวุฒิสภาเพื่อนพ้องน้องพี่

2020-09-23 17:15:43

รัฐสภาถกแก้ไข รธน. "เสรีพิศุทธ์” อัดวุฒิสภาเพื่อนพ้องน้องพี่

Advertisement

รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.  6 ฉบับวันแรก  "สมพงษ์" ระบุควรตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ ไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ  ด้าน“ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” อัดวุฒิสภาเพื่อนพ้องน้องพี่ โดนน้องนายกฯประท้วง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  23 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ พ.ศ... จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณ  3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272  เรื่อง ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี  5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 279 ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งส.ส. 2 ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยร่างแก้ไขที่ 3-6 นั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ก่อนการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้หารือกรณีเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของฝ่ายค้านเนื่องจากมีการลงชื่อซ้ำกันในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ  โดยนายชวน ชี้แจงว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณากรณีนี้เป็นพิเศษ มีเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมด สรุปว่า การลงชื่อในฉบับเดียวกันไม่ได้ แต่หากทั้ง 4 ฉบับ เป็นคนละฉบับ หลักการ และเหตุผลต่างกัน ไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้  ต่อมานายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงกรอบการประชุมขอให้รวมทั้ง 6 ฉบับ พิจารณาร่วมกัน ส่วนการลงมติจะรับหลักการทีละฉบับ 

จากนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสนอญัตติ ชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช. สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก ส่วนหลักการและเหตุผลการแก้ไขระบบเลือกตั้ง นั้นเนื่องจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ขัดหลักประชาธิปไตยหลายเรื่อง ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เศรษฐกิจถดถอย การแก้ไขทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหาการเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอปัญหา จึงต้องช่วยกันยุติปัญหาทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ  และยุบสภา เชื่อว่า ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นชอบหลักการตามญัตติที่เสนอ เหลือเพียงเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 24 เสียง ที่จะมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองพ้นจากความขัดแย้ง

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ เพื่อการสืบทอดอำนาจ ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มจากแต่งตั้ง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน  แต่พอร่างเสร็จแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พอใจ ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ชุดที่ 2 ขึ้นมาอีก ดังนั้น กรธ.ชุดใหม่จึงต้องร่างเอาใจ ประชาชนที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดำเนินคดีเกือบ 200 คน มีอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวร้ายที่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจาก คสช. ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ในขณะนั้นได้ลาออก เหมือนมีญาณรู้ว่าจะได้เป็นประธาน ส.ว. และสัดส่วน ส.ว. คือ ตำรวจ 14 คน ทหารอีก 91 คน และยังเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับ คสช. อีกจำนวนมาก จนวุฒิสภามีชื่อว่าสภาเพื่อนพ้องน้องพี่  ยุคหนึ่งเราเคยเรียกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย  แต่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะสรรหา ส.ว. แล้ว ส.ว. ก็ไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 249 คน ขาดเพียงแค่ประธานคนเดียวที่งดออกเสียง เป็นการเอาบุญคุณส่วนตัวมาแลกกับผลประโยชน์ประเทศชาติ  ทั้งนี้ยังเห็นว่าขั้นตอนในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ใช้เวลานาน เท่ากับการต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอีก จึงเสนอ 4 ขั้นตอนคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากรัฐมนตรีก่อน แล้วก็เลือกนายกรัฐมนตรีตาม ม.172 แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนำร่างของประชาชนมาพิจารณา และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ถ้านายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีทางลาออก พร้อมย้ำว่าให้รีบตัดสินใจ ถ้ารีบลาออก ประเทศจะเดินหน้าต่อ นักศึกษาก็จะหยุด แล้วจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถูกประท้วงหลายครั้งทั้งจาก ส.ส.  ส.ว. อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ินายสิระ เจนจาคะ เป็นต้น