"บิ๊กป้อม" ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งเตรียมรับมือ PM 2.5
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/63 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งรัดและติดตามการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ การขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวและการเตรียมรับมือกับ PM 2.5 สรุปสาระสำคัญ ที่ประชุมรับทราบสถานภาพสุทธิของเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม 2,391.94 ล้านบาท และแนวทางการจัดเก็บรายได้จากแหล่งรายได้อื่น ๆ และร่วมกันเร่งรัดผลักดันให้มีระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกันติดตามนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ที่มุ่งระยะสั้น ( 1-5 ปี ) ใน 4 แนวทาง คือ 1) ให้ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกและหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว 2) เมืองมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถรองรับภัยพิบัติและมีฐานทรัพยากร เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชน 3) มีเครื่องมือ กลไก เพื่อเอื้อต่อการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียว 4) ตระหนักในภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างพลังทางสังคม เห็นชอบโครงการต้นแบบในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นา เพื่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จ.ดสุพรรณบุรี ของมูนิธิข้าวขวัญ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการพัฒนากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร พร้อมทั้ง เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในช่วงวิกฤต ปี 2563-2564 จากการจราจรอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง รวมทั้งข้อเสนอด้านกฎหมายรับมือวิกฤต PM 2.5 โดยให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งกำหนดแผนการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร สร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้มากขึ้น
พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประวิตร’ ได้ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กับการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังไปพร้อมๆกัน โดยต้องให้ความรู้กับท้องถิ่น รวมทั้งรับฟังและเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีบทบาทเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในทุกพื้นที่มากขึ้น สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ขอให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ถึงระดับท้องถิ่น เร่งขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นนำ้และพื้นที่เมือง โดยต้องมีตัวชี้วัดและการประเมินผลที่ชัดเจน สำหรับการเตรียมการรับมือกับปัญหา PM 2.5 จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมการและขับเคลื่อนแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงๆจัง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคการจราจรและภาคประชาชน โดยจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับการสื่อสาร สร้างการตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อลดต้นเหตุของปัญหาในแต่ละภาคส่วนอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป