"ศรีสุวรรณ" จี้เลขาธิการ กกต.ทบทวน 31 พรรคการเมืองกู้เงิน เสนอให้ กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัย
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.ป นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ กกต. สืบเนื่องจากเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แถลงว่าได้ยุติเรื่องการตรวจสอบว่าพรรคการเมืองจำนวน 31 พรรคการเมือง มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ขัดหรือยังต่อมาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เช่นเดียวกับที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า ทุกพรรคมีสิทธิกู้ยืนเงินหรือยืมเงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน ต่อพรรค ต่อปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินของทั้ง 31 พรรค ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/2563 ลงวันที่ 21 ก.พ.2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่า “การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมืองซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.62 ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่าย ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมิได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่า เป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ ม.62 ถึงแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้มิได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับและ เป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวชี้ชัดว่า การกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ไม่ปรากฎใน ม. 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ชัดถึงขนาดนี้แล้ว แต่เหตุใดนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงรีบตัดตอน ไม่นำความดังกล่าวรายงานให้ กกต.เพื่อมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นกระบวนความตามครรลองของกฎหมาย เหตุใดจึงกล้าที่จะวินิจฉัยเอาเสียเอง เช่นนี้จะถือว่าชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร ที่สำคัญตามข้อมูลการรายงานค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ กกต.รายงานพบว่ามี 3 พรรคการเมืองที่มีการยืมเงินทดรองจ่ายจากกรรมการ คือ พรรคภูมิใจไทยกว่า 30 ล้าน พรรคเพื่อไทยกว่า 13 ล้าน และพรรคประชากรไทยกว่า 12 ล้าน เหตุใดจึงไม่เข้าข่ายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำเหตุผลดังกล่าวมายื่นให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทบทวนความเห็นและให้ 7 กกต.มีมติส่งกรณีเงินกู้ของ 31 พรรคการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติได้