คลื่นมหาชนแห่ร่วมงาน “สัตตนาคารำลึก" บูชาพญานาคครบรอบ 63 ปี

2020-09-22 10:55:45

คลื่นมหาชนแห่ร่วมงาน “สัตตนาคารำลึก" บูชาพญานาคครบรอบ 63 ปี

Advertisement

พลังศรัทธาลูกพญานาคนับหมื่น แห่ร่วมงาน “วันสัตตนาคารำลึก" บูชาพญานาค ครบรอบ 63 ปี เจ็ดพญานาคผู้พิทักษ์ แสดงปาฏิหาริย์ แห่ขอพรเสริมโชคลาภบารมี

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 21 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ที่ตั้งองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าออกของพระพุทธเจ้า ได้มีบรรดาเหล่าลูกพญานาค หรือบุตรธิดา ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาองค์พญานาคจากทั่วสารทิศนับหมื่นคน ต่างเดินทางมาร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ “วันสัตตนาคารำลึก” หรือพิธีบวงสรวงบูชาพญานาค ที่ดูแลปกปักษ์รักษาองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีความเชื่อ จัดสืบทอดมานานกว่า 63 ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงองค์พญานาค ทั้ง 7 ตน ที่ดูแลปกปักษ์รักษาองค์พระธาตุพนม  เนื่องจากเคยเกิดปาฏิหาริย์ มีเหตุการณ์ประหลาดในคืนวันขึ้น 5 ค่ำ  เดือน 11  ปี พ.ศ.2500 ได้มีชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนวัดพระธาตุพนม พบเห็นแสงประหลาดเป็นลำขนาดใหญ่เท่าต้นตาล แบ่งออกเป็น 7 สี พุ่งแหวกอากาศ จากทางด้านทิศเหนือ  หายเข้าไปในองค์พระธาตุพนม สร้างความอัศจรรย์ แก่ชาวบ้านที่พบเห็น

จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์แปลกขึ้น เมื่อมีสามเณรในวัดถูกพญานาคประทับร่างทรง พร้อมบอกชาวบ้านว่า เป็นองค์พญานาคที่ลงมาดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม มีทั้งหมด 7 องค์ มีนามตามลำดับเป็นมงคลตามอริยทรัพย์อันประเสริฐ  คือ  1.  พญาสัทโทนาคราชเจ้า  เป็นประธาน  2. พญาศีลวุฒินาโค 3.  พญาหิริวุฒนาดโค  4. พญาโอตตัปปะวุฒนาโค  5. พญาสัจจะวุฒินาโค  6. พญาจาคะวุฒนาโค  7. พญาปัญญาเตชะวุฒนาโค ที่มีวิชาความรู้แตกต่างกัน ได้เสด็จมารักษาพระอุรังคธาตุ เนื่องจากเทพยดาที่รักษาองค์พระธาตุอยู่ก่อน  มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อวดอ้าง กินสินบนและเครื่องเซ่นบวงสรวงของชาวบ้าน ทำให้เกิดเสื่อมศรัทธา จึงต้องลงมาดูแล ไม่ให้เกิดมลทิน พร้อมได้โปรดแสดงธรรม เมตตาช่วยเหลือชาวบ้าน ใครที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน เจ็บป่วย มาขอความช่วยเหลือ องค์พญานาคทั้ง 7 จะประทับร่างทรงมาดูแลช่วยเหลือ จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี เมื่อถึงวันสัตตนาคารำลึก จะประกอบพิธีบูชาบวงสรวง ตามประเพณีความเชื่อ 


สำหรับพิธีในการจัดงานช่วงเย็น พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครพนม จะนำประกอบพิธีสวดมนต์เจริญภาวนาทำวัดเย็น รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนา จากนั้นจะรอเวลาถึงช่วงตี 2 จะมีการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเป็นเวลาสำคัญ ที่องค์พญานาคจะประทับร่างทรง ตามประเพณีความเชื่อ เพื่อมาแสดงธรรม รวมถึงสนทนาธรรม รับเครื่องสักการบูชา บางปีจะเกิดปาฏิหาริย์ มีปรากฎการณ์ประหลาด มากมาย อาทิ เกิดเงาพระธาตุพนมบนท้องฟ้า เกิดปรากฎการณ์แสงประหลาดบนท้องฟ้า เมฆคล้ายพญานาค โดยมีบรรดาเหล่าลูกพญานาค หรือบุตรธิดา ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาองค์พญานาค ร่างทรงพญานาค ต่างนำเครื่องสักการบูชา พานบายศรีพญานาคที่สวยงามอลังการ พร้อมดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาถวาย เป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม พร้อมขอพร ขอโชคลาภ เสริมบารมี ตามความเชื่อ ความศรัทธา เชื่อกันว่า หากใครได้มาร่วมพิธี และขอพรรวมถึงได้มีโอกาสมารำถวาย จะเกิดความร่มเย็นเป็นสุข และเกิดบารมีองค์พระธาตุพนม และบรรดาพญานาค จะคุ้มครองปกปักษ์รักษาให้มีความสุขความเจริญ ซึ่งจะมีการสวดมนต์ภาวนาจนถึงรุ่งเช้าอีกวัน และร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพุทธบูชา



 ด้าน พระเทพวรมุนี  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  เจ้าคณะจังหวัดนครพนม  กล่าวถึงที่มาว่า  พิธีศักดิ์สิทธิ์สัตนาคารำลึก  หรือพิธีบวงสรวงพญานาค เป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ สืบเนื่องจากในคืนวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ปี พ.ศ.2500 องค์พญานาค ทั้ง 7 ตน ได้เสด็จลงมาดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม หลังทราบข่าวว่า มีเทพเทวดาบางกลุ่ม สร้างความเสื่อมเสี่ยให้กับองค์พระธาตุพนม และเกรงว่าจะเกิดความเสื่อมศรัทธา จึงแสดงปาฏิหาริย์ มีลำแสงขนาดใหญ่ 7 สี เท่าลำต้นตาล พุ่งลงมายังองค์พระธาตุพนม พร้อมได้ประทับร่างสาเณรในวัด และบอกกล่าวชาวบ้านว่า เป็นพญานาคที่จะมาดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม

อีกทั้งยังมีการแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน และจะลงมาประทับร่างทรงสามเณร หากชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือ โดยพญานาคทั้ง 7 องค์มีนามตามลำดับเป็นมงคลตามอริยทรัพย์อันประเสริฐ  คือ  1.  พญาสัทโทนาคราชเจ้า  เป็นประธาน  2. พญาศีลวุฒินาโค 3.  พญาหิริวุฒนาดโค  4. พญาโอตตัปปะวุฒนาโค  5. พญาสัจจะวุฒินาโค  6. พญาจาคะวุฒนาโค  7. พญาปัญญาเตชะวุฒนาโค ที่มีวิชาความรู้ อิทธิฤทธิ์แตกต่างกัน จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  ทำให้ยึดถือประกอบพิธีบวงสรวงบูชา สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  และเป็นพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของนครพนมในช่วงใกล้งานบุญประเพณีออกพรรษา  หากใครที่ได้มาร่วมพิธีถือว่าเป็นบุญกุศลจะทำให้มีความสุข และเจริญรุ่งเรืองตลอดไป  ที่สำคัญ ถือเป็นงานประเพณีสำคัญที่แสดงออกถึงความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมถึงองค์พญานาค ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นการสร้างจิตสำนึกให้พุทธศาสนิกชนหันมาร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ทุกปีมีประชาชน นักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก