"จุรินทร์" ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ปรับกลยุทธ์รับมือ 3 สถานการณ์วิกฤต
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่สมัยนี้ต้องการคนที่ทำงานอย่างทุ่มเทหนักมากเพราะเราอยู่ภายใต้ 3 สถานการณ์วิกฤตระดับโลกนั่นคือค่าการค่าเงินบาทแข็งค่า สงครามการค้า และโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จึงปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับทั้ง 3 สถานการณ์ และขณะนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคเกษตรเป็นอย่างดี ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานที่หนักมากกว่าเดิมหลายเท่า และเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ก.ย. 2563 ณ โรงแรม เดอะ กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นายจุรินทร์ ได้ไปมอบนโยบายให้กรมการค้าภายใน หน่วยงานหลักอีกหน่วยของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องขับเคลื่อน นโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต"
ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ต้องการให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สาคัญของโลก โดยในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 11 ของโลกมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่ง ในตลาดโลกร้อยละ 2.51 และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยและใน 5 เดือน แรกของปี 2563 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 17.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยได้ตั้งเป้าหมาย 1 สร้าง 3 เพิ่ม คือ สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่ม GDP ประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการทุกระดับ และมีพันธกิจร่วม 4 ด้านคือสร้าง Single Big Data สนับสนุนข้อมูลราคา ความต้องการสินค้า แนวโน้มด้านการตลาด ต่อยอดจากศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center : NABC) ใน 5 รายการสินค้า หลัก (ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ามัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง) และจะขยายเพิ่มอีก 8 สินค้า สร้างแพลตฟอร์มกลางส่งเสริมการซื้อขายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน เช่น GAP HACCP มาตรฐานสินค้าอินทรีย์ และพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด รวมทั้งอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ
นายจุรินทร์ ให้เดินหน้าแบบ "พาณิชย์ทันสมัย" เน้นการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ขยายตลาดในประเทศเชิงรุก สร้างทีมเซลล์แมนจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัดและผู้ประกอบการในจังหวัด เพิ่มช่องทางการตลาดให้หลากหลาย เพิ่มโอกาสทางการตลาดด้านออนไลน์ ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มรายสินค้า อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออก และส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกรูปแบบ อาทิ การทำ online business matching การจัด online instore promotion การจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์เสมือนจริง (Virtual trade show) ด้านช่องทางออฟไลน์ จะส่งเสริมการขยายตลาดผ่านโมเดิร์นเทรด โมบายมาร์เก็ต ตลาดกลาง ตลาดต้องชม ร้านค้าธงฟ้า สมาร์ทโชห่วย ฯลฯ นอกจากนี้ จะส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา ที่ขณะนี้มีพระราชบัญญัติกำหนดไว้แล้ว เพื่อหาผู้รับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง และสร้างความชัดเจนเรื่องปริมาณและราคา ต่อยอดจาก “อมก๋อยโมเดล" ซึ่งนายจุรินทร์ นำเอากติกานี้ไปจัดการด้านเกษตรพันธสัญญาเพื่อเกษตรกรบนพื้นที่ไกลให้เป็นตัวอย่างของทุกจังหวัดและเกิดการซื้อขายจริงตามสัญญาการซื้อขาย ส่วนกระทรวงมีหน้าที่ติดตามการส่งมอบให้เกิดความเป็นธรรม และจะส่งเสริมการทำเคาน์เตอร์เทรด เพื่อให้เกิดการสร้างเวทีจับคู่แลกเปลี่ยนสินค้า โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้จัดงาน “เซลส์แมนจังหวัด จัดซื้อขายแลกเปลี่ยน Counter Trade” สามารถสร้างยอดซื้อขายแลกเปลี่ยนได้รวม 3,244 ล้านบาท โดยภารกิจนี้ รมว.พาณิชย์ได้มอบหมายทีมเซลล์แมนจังหวัด นำโดยพาณิชย์จังหวัด ให้ทำงานล่วงหน้าจนทำให้ได้มูลค่าการซื้อขายแลกเปลี่ยน 778 ล้านบาท และมาต่อยอดกับมูลค่าการจับคู่ธุรกิจในงานอีก 2,466 ล้านบาท เราจะเดินหน้าเรื่องนี้แต่ทีมพาณิชย์จังหวัดต้องทำงานเหนื่อยหน่อย
นายจุรินทร์ ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ขึ้นมาแล้วโดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามร่วม เป็น 2 รัฐมนตรีจาก 2 กระทรวง ที่แต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยมีปลัดจากทั้ง 2 กระทรวง เป็นผู้แต่งตั้งอนุกรรมการ 4 คณะมาเพื่อขับเคลื่อนงานจากคณะกรรมการร่วมข้างต้น โดยทั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการ ตรวจสอบย้อนกลับ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด
นายจุรินทร์ มอบภารกิจหลักของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องเพื่อดูแลเกษตรกรผู้ประกอบการผู้บริโภค ทั้งดูแลราคาสินค้าเกษตรในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร การพัฒนากลไกตลาด พัฒนาตลาดเดิมให้เข้มแข็ง ขยายตลาดใหม่ เชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า เพิ่มศักยภาพ ผู้ขาย ผู้ประกอบการตลาด และเกษตรกร ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีกรายย่อย ให้ดูแลราคาสินค้าและบริการ โดยดูแลต้นทุนสินค้าให้เหมาะสม ดูแลสถานการณ์ราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน ตรวจสอบภาวะการค้าและรับเรื่องร้องเรียน กำกับดูแลการชั่งตวงวัดเพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ช่วยลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ด้วยการจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพอย่างสม่ำเสมอ ตามนโยบายพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน ซึ่งในช่วงปี 2562 และครึ่งปีแรกของ 2563 เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนพอใจเป็นอันดับต้นๆ เรื่องนี้อยู่ในดีเอ็นเอของ รมว.พาณิชย์ชื่อ"จุรินทร์" ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป
นางมัลลิกา บอกว่า โชคดีที่รัฐบาลชุดนี้มี "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์เพราะเป็นคนมีวิสัยทัศน์สามารถทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี มีความนอบน้อมและบูรณาการ มีประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีมาหลายยุคสมัย จึงเข้าใจกลไกทุกอย่างของรัฐ การเดินหน้าประเทศด้วยภารกิจแต่ละเรื่องจึงกระชับฉับไว "ทำได้ไว ทำได้จริง" ทำให้คณะทำงานทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำ และทัพหน้าอย่างภาคเอกชน ต้องปรับตัวและตามให้ทัน ทุกอย่างต้องทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน ตรงตามเป้าหมายของนโยบายรัฐบาลและโปร่งใสตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์