"มาดามเดียร์-ฐิติภัสร์" ลุยแจงสิทธิขั้นพื้นฐาน ปชช.

2020-09-19 14:35:43

"มาดามเดียร์-ฐิติภัสร์" ลุยแจงสิทธิขั้นพื้นฐาน ปชช.

Advertisement

"มาดามเดียร์-ฐิติภัสร์" ลุยแจงสิทธิขั้นพื้นฐาน ปชช. ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าทุกนโนบายดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต พร้อมเร่งออกมาตรการฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เวลา 09.30 น.ที่โรงเรียนมัธยมบึงทองหลาง คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  จัดสัมมนา เรื่อง “สวัสดิการสังคมที่ประชาชนเข้าถึง”โดยมี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้กับผู้นำชุมชนและประชาชน เกี่ยวกับการขอรับบริการที่พึงได้รับสิทธิตามนโยบายต่างๆของรัฐบาล


น.ส.วทันยา กล่าวว่า สวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนต้องได้รับอย่างทั่วถึงเท่าเทียมตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต ตอนนี้สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการ  ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่ 0-6 ปี เรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่อนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ในระดับ ปวช.ปวส.และมหาวิทยาลัย ส่วนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็มีทุนการศึกษาจากรัฐบาลหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ เป็นต้น มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน เบี้ยยังชีพผู้พิการเดือนละ 800 บาท และจะเพิ่มเป็น 1,000 บาทในเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งมีสิทธิ์ในการได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหากเป็นผู้มีรายได้น้อย


"วันนี้เราได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รายได้หลักของไทยมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่วันนี้ส่งออกไม่ได้ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไม่ได้ ด่วยปัญหาทีีเกิดขึ้น รัฐบาลจึงออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ล่าสุดกับการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทเป็นเวลา 3 เดือนสำหรับผู้ถือบัตร และโครงการคนละครึ่ง สำหรับบุคคลทั่วไปที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนคนละ 3,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ"น.ส.วทันยา กล่าว


ด้าน น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้เน้นให้ความรู้กับประชาชนและสิทธิขั้นพื้นที่และสวัสดิการที่ประชาชนควรจะได้รับตามนโยบายรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ และสิทธิการรักษาพยาบาลซึ่งล่าสุดทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ได้ทำการยกเลิกสัญญาการใช้สิทธิบัตรทองกับคลินิก 64 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสในการชี้แจงทำความเข้าใจว่าจากนี้จะไปรักษาพยาบาลที่ไหนอย่างไร สำหรับในพื้นที่เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้ เพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. คอยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ แต่วันนี้ต้องเน้นให้ความเข้าใจเพราะอาจได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือ เป็นประเด็นทางการเมือง