"ปิยบุตร" ปลุกคนรุ่นใหม่อยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ เป็นโอกาสชั้นดีสร้างการเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สถาบันการเมืองไทยในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง” ณ ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฐานะพลเมือง จัดโดย คณะกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
นายปิยบุตร บรรยายตอนหนึ่งว่า การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญมีได้ 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองเห็นว่าถึงเวลาจำเป็น จึงยอมให้ประชาชนมีอำนาจ โดยเขียนและมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนใช้ เปรียบเสมือนการโยนกระดูกให้ หากจะเอาคืนเมื่อไหร่ ย่อมทำได้ทันที แบบที่สอง คือประชาชนเป็นผู้ตกลงกันว่าจะปกครองกันอย่างไร เพราะประชาชนไม่เชื่อในผู้ทรงอำนาจอีกต่อไป จึงรวมตัวกัน บอกว่าอำนาจอยู่ที่ประชาชนต่างหาก และทวงคืนอำนาจมากำหนดเองว่าข้อตกลงร่วมกันจะเป็นอย่างไร โดยแบบที่หนึ่งเมื่อผู้ปกครองเป็นคนมอบรัฐธรรมนูญให้ ผู้ปกครองก็จะมี 2 มิติ คือมิติแรกผู้นั้นเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อมอบให้ประชาชนแล้ว ผู้ปกครองก็จะอยู่ในมิติที่สอง คือต้องมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญด้วย แต่แบบที่สอง ผู้ปกครองจะตัวลีบ เพราะถือว่าประชาชนเป็นคนให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง
“ผมอยากชวนให้ทุกคนคิดถึงเรื่องนี้ เพราะนี่คือ อำนาจการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ภาษาโบราณคืออำนาจในการก่อตั้งแผ่นดิน ที่จะบอกว่ามีสถาบันการเมืองมีอะไรบ้าง จะปกครองกันอย่างไร อำนาจนี้จึงเป็นอำนาจที่ใหญ่ที่สุด ระบอบใหม่จะมาแทนระบอบเก่า สิ่งใหม่จะมาแทนสิ่งเก่า ก็เหมือนเราเปลี่ยนแฟน คือเราจะมีแฟนใหม่ไม่ได้ ถ้าเราไม่เลิกกับแฟนเก่า คือเราจะมีแฟนพร้อมกันสองคนไม่ได้ ประเด็นสำคัญที่จะทำเราเลิกกับแฟนเก่าได้ เราต้องเลิกรัก หรือหมดรัก ดังนั้นถ้าคุณอยากจะมีแฟนใหม่ คุณต้องคุยกับตัวเองว่า คุณเลิกรักแฟนเก่า หมดรักแฟนเก่า ให้ได้ นั่นคือ หากคุณไม่ล้มระบอบเดิม ระบอบใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคุณจะเอาระบอบใหม่เข้ามา ก็ต้องเอาระบอบเดิมออกก่อน กติกาของระบอบเดิมเป็นอย่างไร ผู้มีอำนาจเขียนไว้แล้ว บอกให้แต่คนอยู่แถวหน้าแก้ได้เท่านั้น คนข้างหลังไม่มีสิทธิแก้ คนข้างหลังก็ไปสะกิดคนข้างหน้าว่าให้แก้ให้หน่อย เขาไม่ยอมแก้ เพราะบอกว่าข้างหลังไม่ได้ตั้งเขามา ผู้มีอำนาจต่างหากตั้งมา เขาก็ไม่ยอมทำตามคำถามต่อมาคือแล้วเราจะล้มระบอบเดิมได้อย่างไร การเปลี่ยนระบอบไม่ใช่มิติในทางกฏหมาย แต่เป็นมิติในทางการเมือง เมื่อความชอบธรรมของผู้มีอำนาจเร่ิมศูนย์หาย ไม่มีเหลือแล้ว แต่ยังมีกำลังทางกายภาพอยู่ เราจะทำอย่างไรดี"นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ผมเห็นว่าคนรุ่นนี้อยู่ในรุ่นของการเปลี่ยนแปลง อยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ เป็นรุ่นที่เติบโตมาในสังคมที่แย่มาก แล้วตกไปดิ่งที่สุด แต่เมื่อนั้นเองโอกาสเปลี่ยนแปลงจะมาถึง จงอย่าเศร้าใจน้อยใจว่าทำไมคนรุ่นที่แล้วโชคดีอย่างนี้ แต่รุ่นเราเกิดมาลำบาก ความเหลื่อมล้ำเยอะไปหมด ตรงกันข้ามวิกฤตแบบนี้คือโอกาสชั้นดีที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลง