"ธนาธร" ลั่นหยุด "ระบอบประยุทธ์"ด้วยการแก้ รธน.

2020-09-18 17:00:28

"ธนาธร" ลั่นหยุด "ระบอบประยุทธ์"ด้วยการแก้ รธน.

Advertisement

"ธนาธร" ลั่นต้องหยุด "ระบอบประยุทธ์"ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ย้ำต้องแก้ ม.272 ปิดสวิตช์  ส.ว.

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "ประเทศไทยในทศวรรษหน้า" พร้อมกับวิทยากรร่วมรายการอีก 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

นายธนาธร กล่าวถึงภาพฝันเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า โดยชี้ให้เห็นถึงระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนแค่ไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูล คนจนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยได้รับการเหลียวแล  แต่เพราะความฝันเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้นแบบนี้เองที่ทำให้ตนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชังชาติ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ก็เป็นความฝันของคนอีกหลายล้านคนเช่นกัน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไปสู่จุดนั้นได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ยิ่งในรอบ 2 ปีที่ตนมีโอกาสได้ไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ยิ่งทำให้มั่นใจ แต่ก็ได้เห็นว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรของประเทศไทยไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จะไปสู่จุดที่ฝันได้ ต้องแก้ปัญหาและโจทย์ทางการเมืองเหล่านี้

นายธนาธร กล่าวต่อว่า วันที่ 19 ก.ย. จะเป็นวันครบรอบ 14 ปี การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่ผ่านมาเราเห็นการปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ปิดสถานีโทรทัศน์ ปิดสี่แยกเศรษฐกิจ ปิดคูหาเลือกตั้ง มีการชุมนุม การล้อมปราบที่นำมาซึ่งคนบาดเจ็บล้มตาย การยุบพรรคการเมืองต่างๆ เราเห็นการรัฐประหาร 2 ครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ 2 ครั้ง การเอาภาษีประชาชนและงบประมาณของประเทศมาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใกล้ชิดเพื่อเป็นเสาค้ำยันการสืบบทอดอำนาจ ซึ่งถ้าเรายังปล่อยให้อนาคตของเราเป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา อนาคตแบบที่เราอยากเห็นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น นี่คือโอกาสที่เราทุกคนจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตนเห็นว่าทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะมาตั้งต้นกันใหม่ ยอมรับความผิดพลาดในอดีต แล้วหาทางไปข้างหน้า ให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา และโอกาสที่เราจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตกำลังจะหมดแล้ว โดยขั้นแรกที่สุด เราต้องหยุด "ระบอบประยุทธ์" ให้ได้ ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ หยุดระบอบประยุทธ์ในรูปรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

"แต่ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ นั่นก็ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน แต่เป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้น เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบที่ผ่านมาอีก เรายังมีอีก 4-5 ประการต้องทำคือ 1.ปฏิรูประบบราชการที่ส่วนกลาง คืนอำนาจงบประมาณให้ต่างจังหวัดมีอำนาจตัดสินอนาคตตัวเอง 2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 4.ยกเลิกการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กแข่งขันกัน และ 5. ถึงวันนี้คงมีความจำเป็นแล้วที่จะต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจดีว่าเมื่อพูดแล้ว สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้คนหลายท่าน แต่อยากจะให้พวกเราย้อนกลับมามองดูในประวัติศาสตร์ว่าบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์กับหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันสอดคล้องกันหรือไม่ ดังนั้น เพื่อจะทำให้สังคมไปข้างหน้า เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไป หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า จากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เหลือความศรัทธาในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ไม่เห็นว่ารัฐสภาวันนี้มีเจตนาที่แรงกล้าพอในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พาสังคมไทยไปข้างหน้าแล้วหลุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ได้ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน ซึ่งกฎกติกาที่สังคมจะอยู่ได้ด้วยสันติ ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทุกคนเคารพในกติกานั้น จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ พาสังคมไปข้างหน้าได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน ว่าเราจะไม่ทนอีกแล้วกับสังคมแบบนี้ การชุมนุมแบบสันติปราศจากความรุนแรงและการใช้อาวุธ เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองและทำให้เขาต้องฟังประชาชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ ก็คือไปชุมนุมกันให้มากที่สุด ส่วนประเด็นที่มีความห่วงใยกันว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการชุมนุม ตนเห็นว่าเวลาเราจะพูดถึงความรุนแรงหรือการปะทะ คนที่เราต้องเรียกร้องคือตำรวจ ทหาร และรัฐบาล ว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือไม่ การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนหรือมีข้อเรียกร้องทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่ได้รับประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในฉบับปี 2560 การชุมนุมอย่างสันติปราศจากอาวุธคือการใช้สิทธิในฐานะพลเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ และเมื่อย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการประชาชนเอาปืนไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนทั้งสิ้น

นายธนาธร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันก่อนว่าถ้ามีการชุมนุม เรียกร้องการเมืองจะทำให้รัฐบาลเสียสมาธิในการแก้ปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดมามีข้อผิดเต็มไปหมด ประการแรก การแก้ปัญหาโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถทำไปด้วยกันพร้อมกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเครื่องมือในการแก้ปัญหาทั้งหมดจากสภามาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 , พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ และรวมถึง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ซึ่งสภาก็คงจะผ่านให้อีก มีเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจและโควิดได้ทั้งหมด ดังนั้น เรื่องจัดการปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลล้วนๆ  แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์บอกคำเดียวว่าเสียงข้างมากในสภา อย่างน้อยที่สุดที่อยู่ในสังกัด พล.อ.ประยุทธ์ให้มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญกัน ก็สามารถทำได้ทันที ไทม์ไลน์ที่ว่านั้น ถ้ามีเจตจำนงจริงๆ ปีครึ่งก็ทำได้ ถ้าเจตจำนงมีจริงๆ ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญกันเถอะ ถ้าไม่ใช่ว่าเพียงที่จะซื้อเวลา อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่ต้องแก้ มาตรา 272 เรื่อง ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ในระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกำลังเดินไปทำไปพร้อมกันได้ เพราะเกิดมีการยุบสภาขึ้นมาเมื่อไหร่ กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะหายไปเลย กรรมาธิการที่ศึกษาหรือทำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะหายไปทันที นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องผลักดันมาตรา 272 เพื่อไม่ให้รัฐบาลยุบสภาหนี ซึ่งยุบสภานั้นจะเป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ