โพลชี้ ปชช.หวั่น"ชุมนุม"บนซากแห่งความสูญเสีย

2020-09-19 06:00:23

โพลชี้ ปชช.หวั่น"ชุมนุม"บนซากแห่งความสูญเสีย

Advertisement

"ซูเปอร์โพล" เผย ปชช. หวั่น "ชุมนุมใหญ่" เป็นชัยชนะบนซากแห่งความสูญเสีย โดยมี "ประเทศไทย" เป็นผู้แพ้

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ชัยชนะบนซากแห่งความสูญเสีย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,145 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.9 สนับสนุนเนื้อหาที่ม็อบ 19 กันยายน เรียกร้อง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน ขณะที่ร้อยละ 17.1 ไม่สนับสนุน ที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.0 ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต้านกับกลุ่มสนับสนุนม็อบ 19 กันยายน ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ขณะที่ร้อยละ 19.0 ระบุว่าไม่ขัดแย้งรุนแรง

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุอีกว่า นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 94.1 ระบุว่า ภาพอนาคตของประเทศจากความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เป็นภาพเดิมๆ แห่งการสูญเสีย ฉายหนังซ้ำในอดีต ขณะที่ร้อยละ 5.9 เท่านั้นที่ระบุว่า เป็นภาพใหม่ที่ดีต่อประเทศชาติ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เมื่อถามว่า ภาพสุดท้ายใครแพ้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.9 ระบุว่า ประเทศชาติแพ้ วิกฤตเศรษฐกิจหนักลงไปอีก ขณะที่ร้อยละ 81.2 ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่แพ้ ร้อยละ 6.7 ระบุว่า คนหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ และร้อยละ 3.2 ระบุอื่นๆ เช่น ทุกฝ่ายแพ้ ไม่มีใครชนะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามประชาชนเพียงร้อยละ 17.0 สนับสนุนการลงถนนรวมตัวชุมนุม 19 กันยายน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.0 ไม่สนับสนุน ที่น่าสนใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.4 ระบุว่า ประชาธิปไตยที่สงบสุขควรจบในสภาฯ ที่มีตัวแทนจากประชาชน ขณะที่ร้อยละ 9.6 ระบุว่า จบลงที่การพากันลงถนน ก่อชุมนุม




ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนประเด็นเนื้อหาของม็อบ 19 กันยายน เรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน แต่ไม่สนับสนุนการพาคนลงถนน ก่อม็อบ เพราะกลัวประเทศชาติ และตัวเองจะล่มจมลงไปอีกจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ซ้ำเติม ซึ่งประชาชนทั่วไปก็ทราบดีว่าปัญหาทั้งสองเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ประเทศไทยกำลังถูกฟื้นฟูให้สถานการณ์ดีขึ้น เหมือนคนป่วยขั้นโคม่าอาการเริ่มขยับตัว ตอบสนองได้บ้าง ดังนั้นทุกคนต้องถามตัวเองว่าประเทศไทยเป็นของเราทุกคน หรือเป็นของคนในโลกโซเชียล และเมื่อเกิดความรุนแรงบานปลายขึ้น ใครคือผู้ล่มจม คนในโลกโซเชียลหรือคนไทยทุกคนทั้งประเทศ และที่ต้องช่วยกันคิดต่ออีกว่า ภาพอนาคตของประเทศที่จะเกิดขึ้น เป็นชัยชนะบนซากแห่งความสูญเสียหรือไม่