"จุรินทร์" หวังวิป 3 ฝ่ายร่วมมือกันจริงจัง ทำให้การแก้ไข รธน.ราบรื่น
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคมีมติชัดเจนแล้วว่าสนับสนุนให้มีการลงชื่อและสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาโดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ คิดว่าเวทีรัฐสภาเป็นเวทีที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นชัดเจนว่าเราต้องการเห็นผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จจริงก็จะช่วยให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐสภา ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ตนได้แสดงความเห็นว่าถ้าจะเกิดขึ้นได้จริง วิป 3 ฝ่ายควรจะได้มีการหารือกัน คือ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เหตุที่จำเป็นต้องมีวิปฝ่ายค้านด้วยก็เพราะหากการแก้รัฐธรรมนูญนี้ ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ร้อยละ 20 ขึ้นไป การแก้ไขนี้ก็ไม่สามารถทำได้ และที่จำเป็นต้องมีวิปวุฒิสภาด้วย ก็เป็นเพราะหากวุฒิสภาเห็นด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนวุฒิสภาทั้งหมดก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้นสำหรับเวทีรัฐสภาทั้ง ส.ส.รัฐบาลส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิกย่อมมีความสำคัญที่จะทำให้แก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาที่ตนมอบให้วิปพรรคประชาธิปัตย์ไปหารือกับวิปรัฐบาลเพื่อที่จะได้ประชุมร่วมกัน หรือหารือร่วมกันกับวิปอีกสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณที่ดีเพราะว่าได้รับเสียงตอบรับจากวิปรัฐบาลแล้วว่าจะช่วยประสานงานในการที่จะคุยกับวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภาต่อไป ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางที่ได้เสนอไป ซึ่งก็หวังว่าถ้าทั้ง 3 ฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและต้องการให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นจริงทุกอย่างก็จะเรียบร้อยและราบรื่นขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า เราก็จะทำหน้าที่ในสภาฯ ให้ดีที่สุดเพราะสิ่งที่ตนได้เสนอไปและพยายามผลักดันผ่านวิปรัฐบาลนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นบทบาทหน้าที่หลักของผู้แทนราษฎรที่เราได้พยายามทำหน้าที่เต็มที่และสะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ก็ตั้งใจจริงที่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญสัมฤทธิ์ผลได้จริง ซึ่งในเรื่องนี้ก็ควรจะได้มีการรีบหารือกันเพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในช่วงปลายเดือนก็จะต้องลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะได้มีการคุยกัน หารือร่วมกัน หาว่าอะไรคือจุดเหมือน อะไรคือจุดร่วม อะไรคือจุดต่าง แล้วแสวงหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญแก้ไขได้จริงๆ หากไปทางนี้ได้ก็คิดว่ารัฐสภาจะเป็นทางออกหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ ประชาธิปัตย์จึงผลักดันผ่านวิปร่วมรัฐบาลเป็นหลัก เพราะประชาธิปัตย์ลำพังพรรคเดียวเสียงไม่พอ มีแค่ 52 เสียงไม่สามารถแก้ได้ ส่วนประเด็นวุฒิสภานั้นพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเห็นว่าวุฒิสมาชิกควรมี ระบบรัฐสภาประเทศไทยควรเป็นระบบ 2 สภา คือมีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพียงแต่ว่าถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ควรจะมีบทบาทจำกัด เช่นมีบทบาทในการกลั่นกรองกฎหมาย และมีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นด้านหลักเท่านั้น และเมื่อ ส.ส.ร. เกิดขึ้น ความคิดนี้ก็สามารถที่จะถ่ายทอดไปยัง ส.ส.ร.ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันนี้