"อย.-นิด้า"เปิดระบบ"เช็กให้รู้"สู้ข่าวปลอมด้านสุขภาพ

2020-09-15 14:00:39

"อย.-นิด้า"เปิดระบบ"เช็กให้รู้"สู้ข่าวปลอมด้านสุขภาพ

Advertisement

"อย.-นิด้า-แบ็คยาร์ด" เปิดตัวระบบ "เช็กให้รู้" สู้ข่าวปลอมด้านสุขภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อ "สังคม" วงกว้าง

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ภาคีเครือข่ายการตรวจสอบ Fakenews ด้านสุขภาพ เปิดตัวระบบต้นแบบ "เช็กให้รู้" หรือระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอมด้านสุขภาพ หรือ Fact Checking Intelligent Platform โดย ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม กล่าวถึงที่มาของระบบอัจฉริยะต้นแบบ เช็กให้รู้ ว่า ระบบดังกล่าวพัฒนาโดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาษา และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลข่าวปลอมให้กับนักตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ของประชาชน






นอกจากนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยังลงนามความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบต้นแบบกับทางคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม เพื่อรับมือกับข่าวปลอมด้านสุขภาพที่เกิดในสังคมไทยปัจจุบัน โดยดำเนินโครงการด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2562






ด้าน นายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด (Backyard Co., Ltd.) กล่าวว่า ระบบต้นแบบเช็กให้รู้ ในฐานะบริษัทแกนหลักด้านการพัฒนาเทคโลโลยี ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายฯ ทั้ง 5 หน่วยงานพัฒนาเกณฑ์ 6  มิติ ได้แก่ มิติโครงสร้างข่าว, มิติบริบท, มิติเนื้อหา, มิติด้านภาษา, มิติด้านโฆษณาและผู้สนับสนุน และมิติด้านสุขภาพ ซึ่งในด้านมิติที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษา” เริ่มจากกระบวนการทำงาน Data Scientist ได้พัฒนาโมเดลด้วยการสอนให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ผ่านการสร้าง Annotation แล้วให้กลุ่มนักนิเทศและนักภาษาศาสตร์ในเครือข่ายความร่วมมือฯ ทำหน้าที่จำแนกองค์ประกอบข่าว เช่น พาดหัวคลิกเบท (Clickbait), เนื้อหาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือทำตาม (Misleading) และเนื้อหากล่าวอ้าง (Imposter) ฯลฯ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลการวิเคราะห์โดยมนุษย์สร้างโมเดลการเรียนรู้ให้ระบบคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ แยกแยะโครงสร้างของข้อมูลข่าวด้วยเทคโนโลยี Deep Learning จนนำไปสู่ระบบอัจฉริยะช่วยตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพขึ้น ซึ่งระบบจะสามารถระบุถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเป็นข่าวปลอม (Fake news probability) ขณะเดียวกันโครงการฯ กำลังพัฒนาต่อยอดให้ประชาชนทั่วไป สามารถนำข่าวที่ได้รับมาร่วมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในอนาคตด้วย

นายวิษณุ โรจน์เรืองไร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัญหาการส่งต่อข้อมูลสุขภาพแบบผิดๆ ถือเป็นปัญหาระดับประเทศ และเรื่องแชร์ผิดๆ เดิมๆ หลายเรื่อง และมีการกลับมาแชร์ซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทาง อย.จึงดำเนินโครงการเช็ก ชัวร์ แชร์ โดยรวบรวมข้อมูลที่มีการแชร์กันแบบผิดๆ มาแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับตรวจสอบความถูกต้องเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบบทความ อินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอ สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม ยังมีงานส่วนอื่นๆ ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ทั้งการวิจัยองค์ความรู้ การพัฒนาระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มีความแม่นยำ และครอบคลุมบริบทต่างๆ หใมากขึ้น





นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การจัดอบรมเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่องค์ความรู้ การตระหนักรู้ และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งขยายเครือข่ายไปส่วนภูมิภาค จะนำไปสู่การพัฒนากลไกและเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณชนวงกว้างต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจทดลองใช้ระบบเช็กให้รู้ สามารถร่วมเป็นเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร และรับข่าวสาร หรือร่วมการทดลองระบบได้ที่  facebook fanpage : #เช็กให้รู้