"ไพบูลย์” ยื่นประธานสภาฯ ค้านบรรจุร่างแก้ไข รธน. 4 ญัตติฝ่ายค้าน จี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เหตุ ส.ส.ลงชื่อซ้ำไม่ได้ ขัด มาตรา 256 (1)
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4ญัตติ ของพรรคฝ่ายค้านเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เนื่องจากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีส.ส.ลงชื่อซ้ำซ้อนกับญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256(1) ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 4 ญัตติ ที่ฝ่ายค้านยื่นมาล่าสุดพบว่า มีส.ส.ลงชื่อซ้ำซ้อนกับญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 5/2563 กรณีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เสนอความเห็นส.ส. 77คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความถูกต้อง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1)ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกับเรื่องพิจารณาที่3/2563 และมีรายชื่อส.ส.ผู้เสนอความเห็นลงชื่อซ้ำกัน 30 คน ทำให้จำนวนส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องมีไม่ถึง 1ใน10ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด คำร้องดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงรายชื่อของส.ส.จะลงชื่อได้ครั้งเดียว จะมีรายชื่อซ้ำในทำนองเดียวกันไม่ได้ ดังนั้นตนจึงขอคัดค้านการบรรจุร่างแก้รัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่วาระการประชุม เพราะเกรงว่าหากนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความไม่ชอบเข้าสู่ที่ประชุมไปแล้ว ภายหลังมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความถูกต้อง จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย จึงอยากให้ประธานรัฐสภา ยับยั้งญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับไว้ก่อน เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการลงรายชื่อซ้ำซ้อนกันในร่างแก้รัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 16ก.ย.นี้ ตนจะยื่นญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ให้พิจารณาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 กับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4ญัตติ มีเนื้อหาคนละอย่างกัน จะทำให้เข้าชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณีเป็นการเข้าชื่อยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่เกี่ยวกับว่า เป็นมาตราใด ไม่ว่าจะเป็นการขอแก้มาตรา 256 หรืออีก 4ญัตติที่เหลือ เป็นการยื่นขอแก้รายมาตรา ดังนั้นจะเข้าชื่อซ้ำซ้อนกันในญัตติไม่ได้ ยืนยันไม่มีเจตนาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ แค่อยากตรวจสอบการยื่นให้มีความถูกต้องก่อน จะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวทราบว่าฝ่ายค้านก็สงสัยเช่นกัน จึงได้ทำหนังสือไปสอบถามสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าสามารถลงชื่อหลายญัตติได้หรือไม่
ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ สภาฯเสนอมาทั้งหมด 7 ญัตติ โดยบรรจุระเบียบวาระไปแล้ว 2 ญัตติ คือญัตติของฝ่ายค้านที่นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนอีก 5 ญัตติอยู่ระหว่างการตรวจสอบของประธาน โดยนายชวนจะตรวจสอบแก้ไขเพิ่มเติมว่าต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ อีกทั้งต้องตรวจสอบจำนวนส.ส.ตามมาตรา 256 (1) ที่ต้องมาจาก ครม.หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1ใน5 เท่าที่มีอยู่ของส.ส.ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยจำนวนส.ส.ปัจจุบันมี 488 คน หรือต้องมีอย่างน้อย 98 คน รวมทั้งตรวจสอบรูปแบบว่ามีหลักการเหตุผลของร่างหรือไม่ ด้วย
เมื่อถามว่า ส.ส.สามารถลงรายมือชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าตรงตามมาตรา 256 หรือไม่ และเบื้องต้นสมาชิกลงรายมือชื่อซ้ำกันคงไม่เป็นไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดสิทธิ์ไว้