"ชัยธวัช"ชี้ญัตติแก้ ม. 256 รัฐบาลวางกับดักไว้

2020-09-12 18:30:14

"ชัยธวัช"ชี้ญัตติแก้ ม. 256 รัฐบาลวางกับดักไว้

Advertisement

เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 256 รัฐบาลวางกับดักไว้ เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จให้สภาฯพิจารณาก่อนประชามติ ชี้กลไกแยบยลฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้อย่างเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ในงานเสวนาวิชาการและเวทีระดมความคิด "สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แบบไหน ที่คนไทยต้องการ" นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านกลไกรัฐสภา ต้องมีการเสนอเป็นญัตติซึ่งสามารถเสนอได้หลายญัตติแต่ต้องเป็นเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกัน ปัจจุบันมีการยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาแล้ว 6 ญัตติ ดังนี้ ญัตติแรก เป็นญัตติที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 สาระสำคัญคือ เพื่อให้มี ส.ส.ร. ซึ่งทางพรรคก้าวไกลเห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่ได้สงวนความเห็นเอาไว้ในการให้ส.ส.ร. สามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ และจะสนับสนุนร่างญัตตินี้ให้ผ่านในวาระที่ 1 ในวาระที่ 2 จึงค่อยแปรญัตติแก้ไขในประเด็นข้อสงวนข้างต้น ญัตติที่สอง เป็นร่างญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เช่นเดียวกับของฝ่ายค้าน แต่รูปแบบและรายละเอียดต่างกันมาก เช่น กำหนดที่มาของ ส.ส.ร. จำนวน 50 คน ให้มาจากการการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และในส่วนของ ส.ส.ร. ที่มาจากนิสิตนักศึกษา 10 คนต้องมาจากการรับรองของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ญัตติต่อมาคือญัตติที่พรรคก้าวไกลเชิญชวนให้ ส.ส.จมาร่วมกันยื่นแก้ไขยกเลิก มาตรา 272 เพราะลำพังเสียงของพรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่พอ ญัตตินี้จะเป็นก้าวแรกของการปิดสวิทข์ ส.ว. ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากในสถานการณ์ยังไม่รู้ว่า ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อกำเนิด อะไรจะเกิดขึ้นขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการมี นายกฯ คนนอก จะเกิดขึ้นได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ด้วยบทเฉพาะกาล มาตรา 272 นี้เท่านั้น

“ก้าวแรกของการปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยกเลิก ม. 272 นอกจากจะเป็นการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังจะเป็นการปิดทางไม่ให้มีนายกฯ คนนอกด้วยเช่นกัน แต่ญัตตินี้ ส.ส.ที่มาร่วมลงชื่อจากบางพรรคถูกกดดันให้ไปถอนชื่อ ส่งผลให้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะต้องตกไป แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ได้ไปร่วมเข้าชื่อกับญัตติที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อีก 4 ญัตติ พร้อมกันคือ การยกเลิกมาตรา 272 บวกแก้ไขมาตรา 156 มีสาระสำคัญคือการยกเลิกอำนาจ ส.ว. พร้อมทั้งแก้ไขบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเปิดทางให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้จากบัญชีที่เสนอโดยพรรคการเมือง หรือมาจาก ส.ส. เท่านั้น ญัตติต่อมาคือ ยกเลิกมาตรา 270 และ 271 สาระสำคัญคือยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหามากในเชิงปฏิบัติ ต้องกล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นนี้เป็นคนละเรื่องกับการที่ว่าจะไม่มีกฎหมายปฏิรูปประเทศแต่เป็นการบอกเพียงว่ากฎหมายแต่ละฉบับขอให้ไปใช้กลไกปกติ เพราะเมื่อพูดให้ถึงที่สุดกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอมาทั้งหมดคือการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้นทั้งนั้น” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่าการยกเลิก มาตรา 279 ซึ่งตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่มีการเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เพราะเป็นมาตราที่รับรองให้ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายความว่าจะทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช. สามารถถูกตรวจสอบได้ เช่น ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายตามมาตรา 44 จะสามารถไปยื่นขอความเป็นธรรมจากศาลได้ และญัตติสุดท้ายคือการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรจำนวน 2 ใบ หลายคนเป็นกังวลเรื่องการจะแก้ได้ต้องใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 คือจำนวน 84 เสียง ซึ่งมีเสียงแว่วมาให้ได้ยินว่าตอนนี้ยังมีไม่ถึง และก็ได้ยินมาอีกว่ามีการพูดเปรยๆว่าจะแก้อะไรก็ได้ แต่ขออยู่ครบ 5 ปีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่สามารถตัดสินใจหรือให้คำตอบได้ ต้องถามไปยังประชาชนว่ายอมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ประชาชนและสังคมนอกสภาอาจต้องส่งเสียงสร้างแรงกดดันไปยัง ส.ว.ให้ยอมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องช่วยกันส่งเสียงว่า อยากเห็น ส.ส.ร. เป็นอย่างไร ต้องส่งเสียงไปทุกช่องทางไปถึงสภา และต้องลองช่วยกันคิดช่วยกันหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าจะทำอย่างไร และหากญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการแปรญัตติแล้วแย่หรือไม่ยอมให้แก้ไขอะไรสักอย่างในกระบวนการรัฐสภา เพราะ ส.ว.ขวางไว้ ก็จำเป็นต้องไปล่ารายชื่อจากประชาชนข้างนอกเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการผลักดันเรื่อง ส.ส.ร. แล้ว ประเด็นที่ต้องผลักดันคู่ขนานไปด้วยคือการปิดสวิตช์ ส.ว. ที่ยังมีอีก 1 มาตรา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้เสนอยื่นคือ ยกเลิกมาตรา 269 สาระสำคัญของมาตรานี้คือ การให้ ส.ว.250 คน ที่มาจาก คสช. ออกไปเลย แล้วกลับไปใช้ ส.ว. รูปแบบปกติ แต่เรื่องนี้คือการแก้ไขในระดับเฉพาะหน้า เพราะยังมีประเด็นว่า ส.ว. ยังมีความจำเป็นหรือไม่ในสังคมไทยซึ่งสามารถพูดคุยถกเถียงกันต่อได้ใน ส.ส.ร. เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือทุกฉบับต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องกลับมาที่ฐานคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยหลักการที่ต้องยึดให้มั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แต่เป็นหลักการที่ไม่แน่ใจว่าสามารถเป็นจริงได้ในสังคมที่ผ่านมาในช่วงเวลาใดบ้าง หากไม่นับเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 รวมถึงในทางปฏิบัติจะเป็นจริงได้อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ซึ่งต้องสามารถแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ตามที่ประชาชนอยากเห็นว่าจะให้สังคมหน้าตาเป็นอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร และอำนาจต่างๆ จะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร และผ่านการประชามติในขั้นตอนสุดท้าย ประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การกำหนดเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในประเทศนั้นๆเป็นคนกำหนดเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากอาณัติของสวรรค์หรือมาในนามของสมมติเทพองค์ใด และต้องเน้นย้ำตรงนี้เลยว่า หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ประชาชนต้องยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เราจะทำรัฐธรรมนูญแข่งกับคณะรัฐประหาร จะไม่ยอมอีกแล้วเหมือนที่ผ่านมาที่ให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกลับไปที่อำนาจอื่นใดที่ไม่ใช่อำนาจของประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญของตัวเองทันที  อย่างไรก็ตามจากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของรัฐบาลคือ มีการวางกับดักไว้ เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วยังไม่ให้ไปลงประชามติทันที ให้นำไปให้สภาฯพิจารณาก่อน กลไกนี้แยบยลเพราะตอนนี้ในสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้อย่างเด็ดขาด