“สมศักดิ์” ชี้ปลดล็อกกระท่อมเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

2020-09-11 14:30:43

“สมศักดิ์” ชี้ปลดล็อกกระท่อมเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

Advertisement

“สมศักดิ์” เปิดเสวนา "กระท่อมไทย วิถีไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย" ชี้ปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน มั่นใจส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล เผยสภาฯบรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษแล้ว จ่อชงกฎหมายลูกเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.  ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม.  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาพืชกระท่อม ภายใต้แนวคิด “กระท่อมไทย วิถีไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย” พร้อมย้ำเจตนารมณ์ว่า ในฐานะที่กระทรวงยุติธรรมและสำนักงาน ป.ป.ส. ดูแลเรื่องยาเสพติด ได้พยายามทำงานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งนี้ สำหรับการปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ตนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ที่หวังจะใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม ซึ่งพืชกระท่อมมีหลักฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน มาตั้งแต่อดีต โดยใช้บำรุงกำลังเป็นยาขยัน แก้ปวดท้องและแก้ปวดเมื่อย ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลพยายามออกกฏหมายเพื่อปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทั้งนี้ ในอดีตกระท่อม ถูกระบุว่า เป็นยาเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นต้องการเก็บภาษี ซึ่งเป็นเหตุผลทางการค้าและการเมือง โดยจากผลการศึกษาของพืชกระท่อม พบว่า มีโทษน้อยมาก แต่กลับมีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ดังนั้นการปลดล็อกพืชกระท่อม จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งพืชกระท่อม มีสารไมทราไจนีน มีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวด ส่วนสารชนิดอื่นๆช่วยเพิ่มกำลังให้กับผู้บริโภค หากศึกษาอย่างถูกต้อง จะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรส่งออกได้ ทำให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก จึงให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นที่ศึกษาวิจัย ได้เตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม ทั้งในเชิงการแพทย์ และเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงต้องมีการศึกษาความต้องการและกลไกของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนพืชเศรษฐกิจอื่นๆที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำบางช่วง นอกจากนี้บางประเทศที่นำเข้าพืชกระท่อม จะมีกฎเกณฑ์และกฎหมายควบคุมอยู่ ดังนั้นจึงต้องศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศควบคู่ไปด้วย


นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ทางกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่... พ.ศ.... ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 มีการกำหนดขั้นตอน 12 ขั้นตอน และเร่งดำเนินการเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 มี.ค. 2563  ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2563 ตนเองได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ได้รับทราบถึงประโยชน์ของการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดและขณะนี้ วิปรัฐบาลได้ส่งร่างดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ คาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็ววันนี้ ในเรื่องของการพิจารณาในสภาฯ  ความจริงระเบียบวาระไปถึงแล้ว แต่คงไม่ทันพิจารณา ในสมัยประชุมนี้ ยืนยันว่า คงไม่มีปัญหา เพราะพืชกระท่อมไม่ได้จบในฉบับเดียว จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคู่ขนานหรือกฎหมายลูกที่จะเขียนรายละเอียดอีกฉบับหนึ่งตามมาซึ่งตัวร่างของกฎหมายลูกนั้น มีทั้งหมดแล้วและจะเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเชื่อว่า จะพิจารณาทันกัน


นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับดังกล่าวที่ยังพิจารณาไม่ทัน ก็ยังมีประมวลกฏหมายยาเสพติดรองรับไว้ อีกชั้นหนึ่ง และประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น กำลังพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ร่วมรัฐสภา เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตนเชื่อมั่นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้เร็ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความห่วงใย การป้องกันไม่ให้เยาวชนไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับพืชกระท่อม แต่ขอยืนยันว่า จะมีการกำหนดมาตรการควบคุม ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่ให้นำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนการแปรรูปเป็น 4 คูณ100 นั้น ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ หากใครจะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตจาก อย. ส่วนที่มีข้อกังวลว่าพืชกระท่อมจะส่งผลต่อการขับขี่ยวดยานพาหนะ จากการศึกษาพบข้อมูลว่า ยังไม่มีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่แม้แต่รายเดียว นอกจากนี้ที่หลายคนมีความกังวลว่า หากปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วจะควบคุมอย่างไร นั้น ย้ำว่า จะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษมีประโยชน์และมีความสมบูรณ์ กระทรวงยุติธรรม โดย ป.ป.ส. จึงขอให้มีการเสวนาเพื่อสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน 

“ถ้าเราหายไป คิดว่า มันผ่านแน่ๆแล้วถ้าอยู่ๆมันเกิดไม่ผ่านขึ้นมา ดังนั้น เราจึงต้องกระทุ้งอยู่เรื่อยเรื่อยในเรื่องของการพูดคุยและให้สื่อช่วยแสดงความคิดเห็นต่างๆออกไปตลอดเวลา หลายท่านที่ต่อสู้กันมาตลอดยาวนานแล้วมันไม่สำเร็จเพราะอะไร เพราะเป็นปัญหาที่คนยังมองต่างมุมอยู่ และมองไม่เข้าใจในพื้นเพหรือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในชนบทที่เคยเกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม ผมเคยทำนโยบายด้านการเกษตร เรื่องวัว หลายคนเป็นสื่อมวลชนในกรุงเทพ ไม่เข้าใจเรื่องวัว ถ้าให้เกษตรกรได้ยืมไปเลี้ยง วันนี้ประเทศไทย คงไม่มีหนี้ เกษตรกรคงไม่เป็นหนี้ เพราะพอสื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถที่จะทำรายได้ให้เกษตรกรมีเงินเก็บได้ ทำเกษตรอย่างเดียวแค่มีกินมีใช้ แต่ถ้าเราทำปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์ เราก็จะมีเงินเก็บ เช่นเดียวกับพืชกระท่อม ถ้ามองผิวเผินเหมือนว่าจะเอาไว้เสพอย่างเดียว ใครจะมองว่าเป็นสินค้าส่งออก ถ้าเราคิดได้ก่อน ทำได้ก่อน ให้เป็นสินค้าส่งออก ก็จะทำรายได้มหาศาล มอร์ฟีนปีหนึ่ง 5 แสนล้านบาท แต่กระท่อมนี้มีฤทธิ์เดชดีกว่ากว่ามอร์ฟีนอีก จึงต้องสัมมนาให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน โอกาสที่กฎหมายจะผ่านก็ง่ายขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว





ขณะที่นักวิชาการ ทั้งรศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,ศ.นพ.ดร.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และรศ. สมสมร ชิตตระการ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวย้ำเป็นไปทิศทางเดียวกันถึงประโยชน์ทางการแพทย์ของพืชกระท่อมว่า สามารถใช้ลดการเจ็บปวดและต้านการอักเสบ รวมทั้งกระตุ้นระบบประสาท ต้านการซึมเศร้าได้

ด้านนายคฑาวุธ ทองไทย หรือ อาจารย์ไข่ ศิลปินจากวงมาลีฮวนน่า มองว่า ตนเกิดในยุคสุดท้ายของการทำไร่เลื่อนลอย มนุษย์ใกล้ชิด ได้ใช้และเข้าใจในวิถีของธรรมชาติมากที่สุด ตนเติบโตมาท่ามกลางการผลิตยาสมุนไพร เนื่องจากมีบิดาเป็นหมอยาสมุนไพร และพบการนำกัญชามาใช้ รวมถึงพบวิถีชีวิตชาวนาที่ต้องเคี้ยวใบกระท่อมระหว่างทำนา ให้สู้แดดสู้นา จึงเชื่อว่า เมื่อหมดโควิด-19 แล้ว ทั้งกัญชา กับใบกระท่อมจะฟื้นฟูประเทศชาติได้มหาศาล


ขณะที่ นายสงคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทยที่ครอบครองกระท่อมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า ที่ ต.น้ำพุ มีโครงการวิจัยเก็บเลือดตัวอย่างของประชาชนที่ใช้พืชกระท่อมทั้งหมดว่า มีผลกระทบต่อไตและตับหรือไม่ เพื่อส่งกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบคลื่นสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเปรียบเทียบกับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อมว่ามีผลกระทบอย่างไร และพบว่า พืชกระท่อมไม่ได้ทำลายสมอง