"ปิยบุตร"ระบุ รธน.60 แก้ได้ทุกมาตรา หนุนเรื่องสภาเดี่ยว แก้ที่มาองค์กรอิสระ ตั้งผู้ตรวจการกองทัพและศาล ยันข้อเสนอ "ม็อบนักศึกษา" สามารถพูดในสภาฯได้ ลั่นต้านรัฐประหารถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมนำเสนอรายงานการศึกษาของ กมธ. ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในส่วนของตนได้ทำความเห็นส่วนตัวโดยสังเขปไว้ 25 หน้า ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น โดยบางประเด็นเห็นตรงกันกับ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ ขณะที่บางประเด็นก็เห็นค้าน ซึ่งในหลายๆ ประเด็นเหล่านี้ อาทิ หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าสามารถแก้ไขได้ ไม่ได้ต้องห้าม และบางกรณีในอดีตก็มีการแก้ไขมาแล้ว และถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ต้องแก้ได้ ทั้งนี้ภายใต้กรอบระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นต่อมาคือเรื่องสภาเดี่ยว ตนสนับสนุนให้ต่อไปนี้ประเทศไทยควรมีสภาเดี่ยวได้แล้ว ประเด็นเรื่องเพิ่มเติมบทบัญญัติการลบล้างผลพวงรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระและองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลย์การทำงานขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแก้ไขระบบกระบวนการนิติบัญญัติที่จะเพิ่มอำนาจให้กับสภามากขึ้น เพิ่มบทบาทให้กับฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสร้างหน่วยงานใหม่ๆ เช่น ผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล ความเห็นเหล่านี้อยู่ในความเห็นส่วนตน และถ้าหากมีโอกาสก็จะขออภิปรายในประเด็นเหล่านี้
"การแก้ไขแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับและแบบรายมาตรานั้น สามารถทำพร้อมๆ กันได้ทั้ง 2 แบบ เช่น คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ร่างแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเข้าสภา ก็ต้องถกเถียงกันว่าจะเอารูปแบบที่พรรคฝ่ายรัฐบาลหรือแบบที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ แต่กว่าจะมีประชามติให้มี ส.ส.ร. กว่าจะเลือกตั้ง ส.ส.ร. กว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กว่าจะผ่านสภาพิจารณา กว่าจะผ่านประชามติ กว่าจะออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้คงอยู่ครบ 4 ปีไปแล้ว ดังนั้น ระหว่างทางก่อนไปถึงวันนั้น เราสามารถแก้ไขรายมาตราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช.ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล มาตรา 269 -272 ต้องยกเลิกเรื่อง ส.ว. 250 คน แล้วกลับไปใช้ระบบปกติ ให้ ส.ว. มีอำนาจตามระบบปกติ ไม่ต้องมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศ หรือไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมืองต่างๆ และที่ไปไกลกว่านั้นก็ควรปรับปรุงแก้ไขการได้มาซึ่งองค์กรอิสระด้วย ดังนั้น ระหว่างทางการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราสามารถทำการแก้ไขรายมาตราในสิ่งที่จำเป็นได้ เพื่อให้บรรยกาศทางการเมืองไทยดีขึ้นด้วย และทยอยกลับเข้าสู่ระบอบปกติ" นายปิยบุตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเสนอนักเรียนนักศึกษาว่า ควรมีการพูดถึงในสภาด้วยหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า หน้าที่หลักของสภานั้นเป็นตัวแทนประชาชน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า นักเรียนนิสิตนักศึกษาและพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ชุมนุมกันทั่วประเทศ และจะมากขึ้นอีกในวันที่ 19 กันยายน และเดือนถัดๆ ไปนั้น ประเด็นหนึ่งที่เขาพูดกันคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เมื่อนอกสภาพูดแล้ว ในสภา ในฐานะผู้แทนประชาชน ก็เป็นสิทธิและผมเห็นว่าเป็นหน้าที่ด้วยที่จำเป็นจะต้องพูด และทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใดๆ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีข่าวลือรัฐประหาร นายปิยบุตร กล่าวว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 เขาได้เอาอำนาจประชาชนไป แล้วพอประชาชนจะเริ่มได้อำนาจกลับคืนก็มาเอาไปอีก ผ่านกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ผ่านการยุบพรรคการเมือง ผ่านการรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ผ่านการสลายการชุมนุมต่างๆ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ดังนั้น ถ้าหากวันนี้จะหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยการรัฐประหารอีกรอบ คิดว่าจะเป็นการทำผิดซ้ำไปกันใหญ่ ซึ่งจริงๆ วิธีการแก้ปัญหาง่ายมาก คือทำรัฐธรรมนูญให้เป็นปกติ บทเรียนที่ผ่านมาเรามีแล้ว คือกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2521 รัฐธรรมนูญ 2534 จะปรับเป็นประชาธิปไตยได้ เราต้องเสียเลือดเนื้อจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในเมื่อบทเรียนมีอยู่แล้ว ทำไมยังเดินหน้าไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ ทำไมยังจะเดินหน้าไปสู่การรัฐประหาร ทำไมถึงไม่แก้กันในกติกา คิดว่าวันนี้ ส.ว.หลายท่านก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าพร้อมจะแก้ไข อยากให้หันมาให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ อย่าใช้อำนาจนอกระบบ และถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขอยืนยันตรงนี้ว่า ตนและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะออกไปต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุดแน่นอน
นายปิยบุตร กล่าวถึง กระแสข่าวว่าจะไปเป็นแกนนำการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. โดยระบุว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งก็เอาใจช่วยผู้ชุมนุม เราต้องพยายามมองนิสิตนักศึกษาเยาวชนว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง เขามีความรู้ความสามารถ เขามีเสรีภาพในการเลือกที่จะแสดงออกแบบใด อย่าคิดว่ามีใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ถ้าตนเป็นนิสิตนักศึกษาก็คงเสียใจ ที่คนมักจะมองว่ามีใครอยู่เบื้องหลังตลอด ทั้งๆ ที่เขามีวิจารณญาณ สามารถครุ่นคิดของเขาได้เอง ตนเองก็รอดูอยู่ ถ้าวันนั้นไม่มีอะไร ก็เป็นพลเมืองไทยที่จะไปร่วมชุมนุมด้วยคนหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีการเป็นห่วงเรื่องมือที่สามในการชุมนุมนั้น เราต้องคิดใหม่ว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรง มีมือที่สาม มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม แทนที่จะชี้นิ้วไปที่ผู้ชุมนุม มันต้องชี้นิ้วกลับไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะว่าการชุมนุมเป็นตามหลักเสรีภาพอยู่แล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงจากมือที่สามเกิดขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ประชาชนที่จะต้องถ้าไม่อยากเจอมือที่สาม ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงก็กลับไปอยู่บ้านเฉยๆ อย่างนี้ไม่ถูก หลักที่ถูกต้องคือ เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องควบคุม ตนคิดว่าไม่น่ามีบรรยากาศอะไรแบบนั้น สำหรับมือที่สาม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้มองเข้าไปว่าทุกคนเป็นลูกหลาน เป็นอนาคตของชาติ อย่าสร้างสถานการณ์จนบานปลายไปสู่จุดที่เราควบคุมไม่ได้