สัตวแพทย์ผ่าซากแม่พะยูนเพศเมีย ตายตัวแรกในรอบปี 63 ถูกคลื่นซัดเกยตื้นตายบนชายหาดเกาะมุกด์ เบื้องต้นป่วยตายตามธรรมชาติ หลังผ่าพบก้อนเนื้องอกในตับหนักกว่า 700 กรัม
วันที่ 6 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารพะยูน ภายในสำนักงานอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นายสันติ นิลวัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง พร้อมด้วย สพ.ญ.ปิยรัตน์ คุ้มรักษา สัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รวมกว่า 10 นาย ได้ร่วมกันผ่าซากพะยูนชันสูตรหาสาเหตุการตาย หลังจาก นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้รับแจ้งจากนายพัน หมาดบู ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ว่าพบ พะยูน เกยตื้นตายบนชายหาดเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง โดยใช้เวลาผ่าซากกว่า 4 ชม.
สำหรับพะยูนตัวดังกล่าว ทราบเป็นเพศเมีย ความยาวลำตัวประมาณ 2.75 เมตร น้ำหนักประมาณ 220 กก.อายุประมาณไม่ต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งเป็นตัวโตเต็มวัย โดยเจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันพลิกซากพะยูน เพื่อเริ่มผ่าตรงช่องท้องเพื่อตรวจอวัยวะภายใน ซึ่งทางสัตวแพทย์ได้เก็บชิ้นเนื้อ ประกอบด้วย หัวใจ ตับ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ช่วยกันขุดหลุมเพื่อฝังกลบในพื้นที่ดังกล่าวตามกระบวนการ
สพ.ญ.ปิยรัตน์ คุ้มรักษา กล่าวว่า จากการเปิดผ่าพิสูจน์ซาก พบมีน้ำอยู่ในปอด พบความผิดปกติของตับ เจอเนื้อลักษณะแข็งแน่น ซึ่งเป็นเนื้องอก น้ำหนักประมาณ 700 กรัม เมื่อผ่าออกมาพบว่าเป็นก้อนหนองอยู่ภายในจำนวนมาก เป็นความผิดปกติเนื้องอกที่ตับ ในส่วนของกระเพาะอาหาร และลำไส้ยังคงมีหญ้าทะเลและอาหารเต็มอยู่ในกระเพาะ ไม่พบขยะ หรือเศษพลาสติก ในส่วนของการเสียชีวิตคาดว่าน่าจะไม่เกิน 1 วัน ส่วนสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะภายนอก ผิวหนัง และลำตัว ไม่พบบาดแผลจากการโดนเครื่องมือประมง ชั้นกล้ามเนื้อก็ไม่พบการบอบช้ำ หรือการกระทบกระเทือนและกระแทกแต่อย่างใด
สพ.ญ.ปิยรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่การป่วยตามธรรมชาติจะพบเจอได้บ่อย ถัดมาสาเหตุก็จะเป็นเรื่องการเกยตื้น และโรคที่พบในพะยูน จะมีติดเชื้อในแบคทีเรียไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ โดยพะยูนตัวดังกล่าวเป็นตัวโตเต็มวัย ส่วนใหญ่พะยูนที่โตเต็มวัยจะไม่ค่อยมีการเกยตื้น แต่ในบางตัวจะมีอาการทางระบบประสาท ทำให้การนำทางผิดพลาดอาจจะกลับฝั่งหรือลงน้ำไม่ทัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้แต่พบได้น้อยมาก
ขณะที่ นายพัน หมาดบู ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเกาะมุกด์ เผยว่า หากพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลจนเพลินบริเวณหน้าหาดช่วงน้ำลงกลับลงทะเลไม่ทัน ถ้าหากเป็นช่วงเวลากลางวัน ชาวบ้านและประมงพื้นบ้านมาพบเห็นจะช่วยกันผลักดันออกสู่ทะเลได้ทัน แต่ก็มีโอกาสพลาดหากพะยูนเข้ามาในเวลากลางคืนอาจจะไม่มีใครเห็นจึงทำให้เกยตื้นได้
รายงานข่าวระบุว่า พะยูนตัวดังกล่าว เป็นตัวแรกที่เสียชีวิตในท้องทะเลตรัง ภายในปี พ.ศ.2563 โดยจากการสำรวจประชากรพะยูนในปี 2563 พบมีประชากรจากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 160 ตัว โดยมีอัตราการตายน้อยลงเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา และในขณะนี้ส่วนของหญ้าทะเลพบว่ามีอัตราที่เพิ่มสูงมากขึ้น และท้องทะเลตรังอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันช่วงนี้มีมรสุมคลื่นลมลมแรงเป็นอย่างมาก