“จุรินทร์” แจง 3 มาตรการหลัก ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวโพด
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ตอบกระทู้ถามทั่วไป ของนายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้สอบถามว่า กระทรวงพาณิชย์มีการควบคุมและการกำกับการนำเข้าข้าวสาลีในสัดส่วน 3 ต่อ 1 ให้มีความโปร่งใส และสามารถนำไปขายให้บริษัทอื่นๆ ได้หรือไม่ และการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ และ กากข้าวโพด เอทานอล ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ว่า ที่มาของการให้นำเข้าข้าวสาลีถือเป็นมาตรการเสริมในนโยบายหลักสำคัญของรัฐบาล คือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็น 1 ในพืช 5 ชนิด ที่รัฐบาลนี้มีนโยบายประกันรายได้อันประกอบด้วยข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา ซึ่งขณะนี้ราคายางได้ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยราคายางแผ่นรมควัน แตะ 60 บาท ยางแผ่นดิบ ราคาเกินกว่า 50 บาทและพืชตัวที่ 5 คือข้าวโพด ซึ่งมาตรการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวโพดนั้น ขณะนี้ ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว ว่าจะประกันรายได้เช่นเดียวกับปีที่แล้ว คือ กก.ละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีเดือน ม.ย. ที่ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้ เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาบริหาร แต่รัฐบาลก็มีมาตรการเพิ่มเติมย้อนหลังให้แล้ว สำหรับฤดูการผลิตใหม่ มีการประกันรายได้ครบทั้งปี รวมทั้งมีมาตรการเสริม 3 ข้อ 1. ช่วงที่ข้าวโพดออกมากให้สถาบันเกษตรกรสามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ รวบรวมผลผลิตในช่วง 2 – 4 เดือน รัฐบาลจะช่วยดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ 2. หากเก็บสต็อกไว้ 4 เดือน รัฐบาลก็จะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน 3. หากจะมีการนำเข้าข้าวสาลี จะต้องมีการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน จึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการที่ ส.ส. ได้สอบถามถึงมาตรการควบคุมบริษัทที่นำเข้าข้าวสาลี ไม่ให้นำไปขายให้บริษัทอื่นได้อย่างไรนั้น มีมาตรการที่จะกำกับดูแลการนำเข้าข้าวสาลีหลายมาตรการ โดยเฉพาะมีการออกกฎระเบียบหลายฉบับ ยกตัวอย่างเช่น ฉบับที่ 1 ประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานของอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะวัตถุดิบ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะนำเข้าข้าวสาลีจะต้องมีคุณภาพ เช่น ข้าวสาลีเมล็ด โปรตีนจะต้องไม่น้อยกว่า 8.5 ไขมันต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 กากต้องไม่เกินร้อยละ 3 ความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 เถ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 นอกจากนั้นก็ยังมีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 นอกจากนั้นในเรื่องการเคลื่อนย้าย ก็ยังมีการกำหนดมาตรการไว้ชัดเจนตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในการควบคุมการขนย้ายข้าวสาลีที่นำเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ข้อสามในประกาศระบุชัดเจน ห้ามมิให้บุคคลใดขนย้ายข้าวสาลี ซึ่งมีปริมาณตั้งแต่ 10,000 กก. ขึ้นไป เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาต