"วิรัช" นำรายชื่อ 206 ส.ส.รัฐบาล ยื่นร่างแก้ไข รธน. ต่อ "ชวน"
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 1 ก.ย. ที่รัฐสภา พรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึงส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้นำรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 206 คน ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดย นายวิรัช กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขเพียงร่างเดียว แสดงให้เห็นว่า เรายังเหนียวแน่น โดย กมธ.วิสามัญในโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล จะเป็นส.ส.รัฐบาล โดยโควตาของ ครม.ยังไม่มี
เมื่อถามว่า ได้มีการหารือส.ว.หรือไม่ เพราะมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิรัช กล่าวว่า ได้คุยบ้างแล้ว แต่ยังไม่ขอชี้แจง เมื่อถามต่อว่า แล้วสัญญาณจาก ส.ว.ดีหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า สัญญาณยังไม่ค่อยชัด ต้องรอดูการอภิปรายในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ก่อนว่า ทั้งส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.จะมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร จะทำอย่างไรให้มุมมองที่แตกต่างจับมารวมกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกัน ขอยืนยันว่า 1 ปีที่แล้ว เราเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายจุด จึงใช้โมเดล ส.ส.ร. โดยรัฐสภามีหน้าที่ไกด์ไลน์ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เท่านั้น
ด้านนายชวน กล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน และต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 1 คณะ ตามสัดส่วนของแต่ละพรรค และส.ว. แต่จะมีคนนอกเข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภา เช่นเดียวกับ เรื่องการจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างฉบับพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลัก ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของรัฐสภา เช่นกัน
นายชินวรณ์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. จำนวน 200 คน ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเป็น 1.การเลือกตั้งโดยตรง อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน รวม 150 คน 2.มาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย จำนวน 20 คน 3.รัฐสภา เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชน และการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน และ 4.ตัวแทนจากนิสิต นักศึกษา 10 คน โดยเมื่อมีการตั้งส.ส.ร.แล้ว จะมีเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน เมื่อเสร็จส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ หากไม่ผ่านความเห็นชอบ จะต้องเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติต่อไป เมื่อถามว่า เหตุใดเมื่อส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว จะต้องนำกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบอีก นายชินวรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงเห็นควรให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
ด้าน นายนิกร กล่าวว่า การให้รัฐสภาให้ความเป็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย เป็นไปตามแนวทางเมื่อครั้งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เมื่อปี39 ซึ่งกำหนดให้ภายหลังที่ ส.ส.ร.ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเสร็จแล้วก็กลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราเห็นว่า ขั้นตอนดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี40 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญให้การยอมรับมากที่สุด