"กลาโหม"แถลงโต้ข่าวบิดเบือนซื้อ"เรือดำน้ำ"

2020-08-31 18:10:50

"กลาโหม"แถลงโต้ข่าวบิดเบือนซื้อ"เรือดำน้ำ"

Advertisement

กลาโหม แถลงโต้ ยัน "ทร." เสียสละงบฯ ช่วยโควิด 2 ปีซ้อนกว่า 7 พันล้าน วอนเห็นความสำคัญของการปกป้องอธิปไตย

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ว่า เป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ (ทร.) ผูกพันงบประมาณข้ามปี 2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แล้ว ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณปี 2564 อย่างที่มีการเข้าใจกัน และเป็นในตามกรอบงบประมาณที่กองทัพเรือ ได้รับการจัดสรรในทุกปี ไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นการตั้งงบฯ ผูกพันปกติ ทั้งนี้ในปี 2563 ทร.ได้ชะลอโครงการเรือดำน้ำไปแล้ว โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้ส่งคืนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ประมาณ 3,375 ล้านบาท และปี 2564 ก็เลื่อนออกไปอีก 3,925 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่อยากให้มีการบิดเบือน เพราะส่วนนี้เป็นงบประมาณในส่วนของ ทร.เอง ไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมกองทัพได้งบประมาณทั้งหมด 6.77 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ประเทศไทย ถือเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค มีผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 ล้านล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมที่มีอยู่ 30 แท่นขุดเจาะ มีคนทำงานอยู่เป็นหมื่นคน มูลค่า 3 แสนล้านบาท ภาคประมงอีก 2 แสนล้านบาท มีชาวประมงที่ประกอบอาชีพหลายแสนคน การท่องเที่ยวอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เราต้องดูแล นอกจากนั้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ เจดีเอ ที่กำหนดร่วมกันจะสิ้นสุดปี 2572 สถานการณ์ทางทะเลขระนี้กำลังมีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ดังนั้นการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลต้องมีให้ครบทุกมิติ ทั้งผิวน้ำ บนฟ้า บนแผ่นดิน และใต้น้ำ ซึ่ง ทร.มองครบทุกมิติโดยเฉพาะมิติใต้น้ำ จึงขอเรียนว่ามีความจำเป็น เพราะกว่าจะต่อเรือดำน้ำใช้เวลา 6-7 ปี แต่ เจดีเอ จะสิ้นสุดในปี 2572 จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้




พล.ท.คงชีพ ยืนยันว่า สัญญาที่ทำกันถูกต้อง ไม่อยากให้มีการบิดเบือน อีกทั้งสัญญาเรือดำน้ำลำที่ 1 ได้ดำเนินการจบไปแล้ว เมื่อมาถึงการดำเนินการลำที่ 2 และลำที่ 3 เราทราบถึงความกังวลของคณะกรรมาธิการฯ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงประสานให้กองทัพเรือ เลื่อนการจัดหาไปก่อน ขณะนี้ ทร.ยอมสละงบประมาณในส่วนนี้ โดยรอบแรก 3,375 ล้านบาท และปีนี้ ทร.ยอมเสียสละปี 2564 อีก วงเงิน 3,925 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่อยากให้มีความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวทิ้งท้าย ว่า ในที่ประชุม รมว.กลาโหม กำชับทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประสานกับเหล่าทัพ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยให้แสวงหาความร่วมมือกันหน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหม ทั้งสถาบันการศึกษาภาคเอกชนที่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์และใช้เองในกองทัพ เพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่โครงการเล็กๆ ขึ้นมา ส่วนยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องซื้อ ให้มีการพิจารณาเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพ และให้พิจารณาซื้อจากในประเทศก่อน โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ภายใต้บัญชีนวัตกรรมที่กำหนด