โพลแฉ"ต่างชาติ"จับมือ"นักการเมือง"หนุนหลังม็อบ

2020-08-29 14:35:22

โพลแฉ"ต่างชาติ"จับมือ"นักการเมือง"หนุนหลังม็อบ

Advertisement

"ซูเปอร์โพล" แฉข้อมูลพบผู้ใช้โซเชียลจากต่างชาติ ปลุก "ม็อบ" ให้เคลื่อนไหว หวั่นประเทศสั่นคลอน

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง หยุดคุกคามประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 5,962 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,121 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 28 ส.ค.ที่ผ่านมา พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 95.6 ระบุว่า กลุ่มม็อบนักเรียนห้ามครูบาอาจารย์สอนเรียนนักเรียนคนอื่นบังคับให้ไปม็อบือเป็นการคุกคามประชาชน รองลงมาร้อยละ 92.3 ระบุว่า การโจมตี ด่าสลิ่ม ด่าชังชาติ ต่างฝ่ายต่างด่าโจมตีกันไปมาเป็นการคุกคามประชาชน





ร้อยละ 91.7 ระบุว่า การโจมตี ด่ากลุ่มเห็นต่างในโลกโซเชียล เป็นการคุกคามประชาชน ร้อยละ 91.4 ระบุ ม็อบกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวคนทำผิดกฎหมาย เป็น การคุกคามประชาชน, ร้อยละ 91.4 เช่นกัน ระบุ กลุ่มนักเรียน ฝ่าฝืนกฎระเบียบวินัย ขณะครูบาอาจารย์กำลังสอน เป็นการคุกคามผู้อื่น, ร้อยละ 90.7 ระบุว่า การยึดพื้นที่ปิดถนน ไม่ให้ประชาชนเดินทางไปมา เป็นการคุกคามประชาชน, ร้อยละ 90.5 ระบุว่า การถอนโฆษณาจากรายการที่เห็นต่างเป็นการคุกคามประชาชน และร้อยละ 89.8 ระบุ การปลดพิธีกรรายการที่เห็นต่าง เป็นการคุกคามประชาชน เช่นกัน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.4 ระบุว่า เชื่อว่าชาวต่างชาติกับนักการเมืองไทยที่เป็นกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และอื่นๆ ร่วมกันออกแบบสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศ ซ้ำเติมวิกฤตความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่ร้อยละ 17.6 ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.1 ระบุว่า กลุ่มม็อบต่างๆ ก็คุกคามประชาชน ขณะที่ร้อยละ 22.9 ระบุ ว่า กลุ่มม็อบต่างๆ ไม่ได้คุกคามประชาชน ที่น่าสนใจคือประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.8 เห็นด้วยว่าทุกฝ่ายควรหยุดคุกคามประชาชน ขณะที่ประชาชนร้อยละ 10.2 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย



ผศ.ดร.นพดล ระบุว่า จากผลสำรวจพบข้อมูลที่น่าพิจารณา คือ จำนวนผู้ใช้โลกโซเชียลเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว มีความการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในวันที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. จำนวน 148,034 ผู้ใช้งานเฉพาะภายในประเทศ แต่ถ้านำข้อมูลรวมจากต่างชาติเข้ามาวิเคราะห์ด้วยมีถึงจำนวน 7,928,492 ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสังเกตหนึ่งที่ค้นพบ คือ ประเทศไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปีทั่วประเทศจำนวน 11,056,769 คน อ้างอิงจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.2562 จึงเห็นได้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวหยุดคุกคามประชาชนในโลกโซเชียลจำนวน 148,034 ผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 1.34 เท่านั้น ซึ่งยังต้องแยกเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ามาผสมโรงออกไปอีกในโอกาสต่อไป

ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุอีกว่า ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองสงบสุขได้มากกว่านี้ถ้าไม่มีการปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรง เพราะกระแสถูกเติมเชื้อไฟจากต่างประเทศทำให้เกิดภาพลวงตา ปลุกเร้าอารมณ์ให้ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนกำลังตกเป็นเครื่องมือ โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีออนไลน์เชื่อมต่อลงพื้นที่จริง (Online-OnGround) ทำให้เกิดภาพกระแสแรงในโซเชียล แต่ผลการศึกษาพบว่ามีกระปลุกปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรงหนาแน่นจากกลุ่มประเทศในอาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันตก เสมือนเกิดสงครามโลกที่ประเทศไทย ซึ่งถูกรุมถล่มให้เสาหลักของชาติสั่นคลอน จึงจำเป็นต้องส่งข้อมูลเตือนไปยังประชาชนทั่วประเทศ

ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุเพิ่มเติมว่า ถ้าประชาชนทุกคนในชาติรู้เท่าทัน มีสติเกาะติดความเป็นจริงมากกว่าที่จะไปตามกระแสปั่นอารมณ์ จะทำให้เราไม่แพ้สงครามในโลกโซเชียล จึงเสนอให้หยุดคุกคามประชาชน และหยุดคุกคามผู้อื่นทุกรูปแบบ ใครผิดว่าไปตามผิด ชาติบ้านเมืองก็จะเดินหน้าได้ไม่สะดุด ความสงบสุขอยู่ที่สติและปลายนิ้วมือของทุกคน เพราะการศึกษาครั้งนี้ค้นพบชัดเจนว่าอารมณ์ของประชาชนมีส่วนถูกปลุกปั่นจากกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ โดยพวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการให้ประเทศแข็งแกร่งไปมากกว่านี้