"ถาวร"ตั้งโต๊ะแถลงปมการบินไทยเจ๊งยับเยิน

2020-08-28 15:05:11

"ถาวร"ตั้งโต๊ะแถลงปมการบินไทยเจ๊งยับเยิน

Advertisement

"ถาวร"ตั้งโต๊ะแถลงปมการบินไทยขาดทุน มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 2,652 ล้าน  ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบิน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ในการบริหารกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย หัวหน้าคณะทำงานฯ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และตั้งคำถาม ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนสมบัติของคนไทยทุกคน 


นายถาวร กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมาย ให้กำกับดูแล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผมและคณะทำงานฯ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม เกี่ยวกับการขาดทุนของการบินไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ มาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุน ทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค. 2548 จนปลดระวางลำสุดท้าย ในปี 2556 และยังเป็นปัญหาภาระในการดูแลจนถึงปัจจุบัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล ที่เป็นการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผล มีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต

“จุดเริ่มต้นของการขาดทุน ต้องย้อนไปในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปี จากเที่ยวบิน A340 เริ่มทำการบิน การบินไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยจำนวน ไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำนั้น เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ 1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติ ครม.อย่างเคร่งครัด 2. ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ - รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 254 ล้านบาท ในการเอื้อประโยชน์ให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย Total Care Agreement 3. มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ” นายถาวร  กล่าว


พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช กล่าวว่า คณะทำงานฯ มีเวลาทำงานเพียง 43 วัน มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูล ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน มีการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของบริษัท ย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี 2560 - 2562 จนกระทั่งการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ 22 พ.ค. 2563 และเมื่อพ้นสภาพ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้มีความเห็นว่าคณะทำงานฯ ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ต่อไป จึงสิ้นสุดการตรวจสอบและนำข้อมูลที่ตรวจพบนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

พล.ต.ท.ชาญเทพ ให้ข้อมูลถึงการใช้จ่ายของการบินไทยที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ส่อให้เกิดการทุจริต ซึ่งเกี่ยวพันกับการทำสัญญาต่างๆ และ การบริหารงานที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและ พวกพ้อง คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560 - 2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำ OT สูงสุด ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน มีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำมีราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท มีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาทโดยอ้าง แนวปฏิบัติที่เคยทำมา และยังมีอีกมากมาย ในหลายๆ แผนกทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์ บนเครื่อง ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบ จะถูกนำเสนอให้กับ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ การบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และนำเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจ ในการดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดต่อไป