โลกออนไลน์แห่แชร์เอกสารของบประมาณปี 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ขอรับการจัดสรรงบประมาณ 111 ล้านบาทสู้คดีเหมืองทองอัครา เผยที่ผ่านมาปี 2562 ใช้ไป 60 ล้าน ปี 2563 ใช้ 217 ล้าน "วิโรจน์" ถามนายกฯใช้ภาษีของประชาชน ในการระงับข้อพิพาททำไม
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฮชแท็ก #เหมืองทองอัครา ได้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกครั้ง โดยผู้ใช้ทวีตเตอร์หลายคนได้ทวีตและรีทวีตเอกสารรายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 111,115,700 บาท
ทั้งนี้การดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าว กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการเรื่องนี้รวมจำนวน 111,115,700 บาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2564 หน่วยงานได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 388.9038 ล้านบาท
-ปี 2562 จำนวน 60 ล้านบาท
-ปี 2563 จำนวน 217.7881 ล้านบาท
-ปี 2564 ขอรับการจัดสรร 111.1157 ล้านบาท
ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ได้ทวีตภาพเอกสารรายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทวิตเตอร์ @wirojlak พร้อมข้อความระบุว่า สรุป Timeline เหมืองทองอัคราจริงๆ สามารถใช้กฎหมายปกติจัดการได้ แต่ดันใช้ ม.44 จนต้องเดือดร้อนภาษีประชาชน ปี 62 ใช้งบเพื่อการระงับข้อพิพาทไป 60 ล้านบาท ปี 63 = 218 ล้านบาท ล่าสุดปี 64 ตั้งงบ 111 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศว่า จะรับผิดชอบต่อการใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัคราเอง แล้วมาใช้ภาษีของประชาชน ในการระงับข้อพิพาททำไม ปี 62 ใช้ไป 60 ล้านบาท ปี 63 = 218 ล้านบาท ปี 64 ตั้งงบ 111 ล้านบาท 3 ปี นี่ 389 ล้านบาท เข้าไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะต้องเสียอีกเท่าไหร่
ผู้สือข่าวรายงานว่า สำหรับเหมืองทองอัครา นั้น ปี 2543 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จากประเทศออสเตรเลีย ได้สิทธิสัมปทาน พร้อมมอบหมายให้บริษัทลูกในประเทศไทย คือ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการการขุดเหมือง แต่หลังจากนั้น 7 ปี มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทยอยออกมาร้องเรียนเรื่องผลกระทบ ต่อมาปี 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำการสุ่มตรวจ และพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง มีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัทประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 มีคำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป ส่วนคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ต้องระงับการอนุญาตให้สำรวจ หรือทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงระงับการต่ออายุสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ ต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอ้างว่า การสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)