แค่แพ้ยาก็ตายได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร

2020-08-28 09:00:31

แค่แพ้ยาก็ตายได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร

Advertisement

แค่แพ้ยาก็ตายได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร 

“แพ้ยา” เป็นอันตรายของการใช้ยาที่เกิดจากปฏิกิริยาการต่อต้านของร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้กับยาทุกชนิด ทั้งยากิน ยาฉีด ยาทา หรือยาดมสลบ อาการแพ้ยาขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ความรุนแรงมากที่สุดคือสามารถทำให้เสียชีวิตได้ 

อาการแพ้ยา เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวเกินไปต่อตัวยาชนิดนั้น ๆ จึงแสดงอาการแพ้ออกมา โดยอาการแพ้ยามีหลายอย่าง เช่น เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตับอักเสบ และอาการอื่น ๆ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกระบบในร่างกาย อาการแสดงและความรุนแรงของการแพ้ยาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอาจเป็นที่ตัวคนไข้เองหรือขึ้นอยู่กับชนิดของยา 

อาการของการแพ้ยา แบ่งได้ใหญ่ๆ 2 ชนิด ได้แก่ 

1. การแพ้ยาชนิด ฉับพลัน มักเกิดอาการหลังจากได้ยา ทันทีหรือเป็นชั่วโมง แต่มักไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาการแสดงที่พบบ่อยได้แก่ ผื่นลมพิษ หายใจลำบาก ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจรุนแรงมากจนทำให้เกิดภาวะช็อค หากได้รับการรักษาไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้ 

2. การแพ้ยาชนิดไม่ฉับพลัน มีอาการแสดงได้หลายแบบขึ้นกับลักษณะการแพ้ 

2.1 การแพ้ยาชนิดไม่ฉับพลัน แบบไม่รุนแรง (maculopapular eruption) มักเกิดภายหลังจากได้รับยา ประมาณ 5-7 วัน ผู้ป่วยมักมาด้วยผื่นแดง คันตามร่างกาย 

2.2 การแพ้ยาชนิดไม่ฉับพลัน แบบรุนแรง (severe cutaneous adverse reaction) พบเกิดอาการหลังได้รับยาตั้งแต่ประมาณ 1 อาทิตย์ จนถึง ระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยผู้ป่วยมักมีผื่นแดงคัน บริเวณลำตัวและใบหน้า มีไข้ บางรายที่รุนแรงมาก อาจมีตุ่มน้ำ ผิวลอก ตุ่มน้ำที่เยื่อบุอ่อน เช่น เยื่อบุ ตา ปาก และอวัยวะเพศ รวมทั้งมีความผิดปกติของระบบอื่นๆ ได้แก่ ตับอักเสบ ความผิดปกติของเม็ดเลือด เป็นต้น 

หากมีอาการแพ้ยา ควรทำอย่างไร? หยุดยาและรีบพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติหลังได้รับยาภายใน 1 ชั่วโมงหรือภายใน 2-3 วัน ควรนำยาที่ตนเองได้รับติดตัวไปด้วย เพื่อให้แพทย์พิจารณา ควรถ่ายภาพความผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้นเก็บไว้ เพื่อให้แพทย์พิจารณาประกอบ เช่น ภาพผื่น เพราะผื่นบางชนิดเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วหายไป หลีกเลี่ยงการทำให้อาเจียน และการซื้อยาแก้แพ้กินเอง หากมีประวัติแพ้ยาควรจดจำชื่อยาที่ตนเองแพ้ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา

อ.พญ.วรรณดา ไล้สวน สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล