จนท.เร่งหาสาเหตุ"หญ้าทะเล"จ.ตรัง เน่าตายเป็นวงกว้าง

2020-08-25 11:05:24

จนท.เร่งหาสาเหตุ"หญ้าทะเล"จ.ตรัง เน่าตายเป็นวงกว้าง

Advertisement

เจ้าหน้าที่เร่งหาสาเหตุ "หญ้าทะเล" จ.ตรัง เน่าตายเป็นวงกว้าง หวั่นทำ "พะยูน-สัตว์น้ำ" สูญพันธุ์ในอนาคต

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดยนายแสวง ขุนอาจ นางแช่ม เพ็ชรจันทร์ และนายสุเวทย์ เกตุแก้ว ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเล ที่บริเวณหน้าแหลมจุโหย ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่มีอยู่ประมาณ 180 ตัว สืบเนื่องจากพบว่าหญ้าทะเลเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง โดยชาวบ้านและเครือข่าวประมงพื้นบ้านเชื่อว่า เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง ของกรมเจ้าท่า เพราะมีการนำตะกอนดินที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำไปทิ้งในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากจุดแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 2-3 กม. แต่ถูกกระแสคลื่นลมซัดเอาตะกอนดินดังกล่าวเข้ามาทับถม จึงเป็นเหตุให้หญ้าทะเลเน่าตายจนโล่งเตียนเป็นบริเวณกว้างตามภาพที่ปรากฏ






โดย ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า นับจากบริเวณเกาะนก มาจนถึงบริเวณแหลมจุโหย ชาวประมงพื้นบ้านทั้งจากเกาะมุกด์ และเกาะลิบง เคยนำสภาพปัญหาดังกล่าวมาพูดคุยกันในการประชุมชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตั้งแต่ปี 2561 ว่า ถ้ามีการขุดลอกปากแม่น้ำตรัง แล้วขนตะกอนดินไปทิ้ง เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบกับหญ้าทะเลอย่างแน่นอน แต่ไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเมื่อต้นปี 2562 เริ่มพบตะกอนดินทับถมหญ้าทะเลรอบนอกประมาณ 200 ไร่ พอมาปลายปี 2562 พบว่าหญ้าทะเลเสียหายเป็นบริเวณกว้างมากยิ่งขึ้น จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมชมรมประมงพื้นบ้านอีกครั้ง จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และให้มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลหญ้าทะเลที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเล ที่สำคัญ คือ หญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน






ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน กล่าวอีกว่า ปีนี้พบหญ้าทะเลตายมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความหายนะ มองออกไปเตียนโล่งไม่มีหญ้าทะเลเหลืออยู่เลย หากประมาณด้วยสายคาดว่าน่าจะเสียหายนับ 1,000 ไร่ หากหญ้าทะเลตาย สัตว์น้ำจำพวกหอยหวาน, หอยชักตีน, ปูม้า, กุ้ง และปลิงทะเล ก็จะสูญหายไปด้วย จะไม่เหลือให้ชาวบ้านจับเลย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ออกมาเดินหาหอยชักตีนในช่วงน้ำลด ต่างยืนยันว่า บริเวณดังกล่าวสัตว์น้ำทะเลหายากทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา อย่างหอยชักตีน ปกติในช่วงน้ำลดชาวบ้านจะออกมาเดินหา ซึ่งจะเก็บได้เป็นจำนวนมากวันละนับ 10 กิโลกรัมต่อคน แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อคน ส่วนสัตว์น้ำอื่นๆ ร่อยหรอลงไปอย่างมากเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านที่เคยหากินจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก




ขณะที่ นายแสวง ขุนอาจ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง เชื่อว่าสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ ปัญหาการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า ทำให้กระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำ เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับท้องทะเล จ.ตรัง เดิมทีเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าทะเลและสัตว์น้ำนานาชนิด ในอนาคตอาจกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพะยูน ที่มีอยู่เกือบ 200 ตัว จึงเตรียมนำเรื่อนี้เข้าที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วนต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ทำการจัดเก็บข้อมูล พร้อมกหนดจุดพิกัดจีพีเอส เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งหญ้าทะเลที่อยู่บริเวณด้านนอก ก่อนประเมินแนวทางแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน