รพ.รามาฯ ตั้งศูนย์ EOC ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

2020-08-24 16:30:09

 รพ.รามาฯ ตั้งศูนย์ EOC ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

Advertisement

รพ.รามาธิบดีจัดแถลงพิธีมอบเงินสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 24 ส.ค. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว “พิธีมอบเงินสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คุณกิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัดและ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน

ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยสามารถทำได้หลากหลายและรวดเร็ว ซึ่งการจัดสร้างหน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EOC (Emergency Medical Operation Center) จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่สำคัญในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดแจ้งเหตุเข้ามาเพื่อรับความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐาน




รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ EOC (Emergency Medical Operation Center) เป็นหน่วยอำนวยการที่ทำหน้าที่ในการสั่งการ และปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้มีคุณภาพสูง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้ได้ตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยปฏิบัติการฝึกอบรมให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ในหลักสูตรปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หรือ Paramedic แพทย์ในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และยังพัฒนาหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาวิชาการดูแล ผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลภายในอีก 2 ปี เพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานสากล ต่อยอดผลงานไปสู่การทำงานวิจัยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในอนาคต



คุณกิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด กล่าวว่า บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ได้เริ่มพัฒนาระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC จากแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรจะช่วยโรงพยาบาลต่าง ๆ แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินให้มีเพียงพอ และให้คนไทยเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินได้มากที่สุด ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาระบบร่วมกับแพทย์ฉุกเฉินของไทยมาโดยตลอด เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ระบบที่ตอบโจทย์การใช้งานในประเทศไทย โดยการพัฒนาในครั้งก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่มีการยกระดับจากศูนย์ AOC หรือ Ambulance Operation Center ไปสู่ EOC หรือ Emergency Medical Operation Center ซึ่งต้องบอกว่าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนี่คือที่แรก และจะเป็นศูนย์กลางในการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่สำคัญในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในนามของบริษัท เทลลี่ 360 จำกัด จึงรู้สึกว่าการสนับสนุนในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นโรงพยาบาลหลักในการรักษาผู้ป่วย แต่ยังเป็นสถานที่บ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

หน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EOC (Emergency Medical Operation Center) ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยระบบสื่อสารการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ทำการเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารบนรถพยาบาลฉุกเฉิน (ambulance) ที่มีคุณภาพและทันสมัยเทียบเท่าในระดับสากล โดยใช้ระบบอิเล็กโทรนิกส์ในการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีคุณภาพและทันสมัยสูงสุด ในการเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีความพร้อมในการใช้งาน สิ่งสำคัญคือ ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งส่วนชุดคำสั่ง หรือ Software ประกอบไปด้วย ส่วนชุดอุปกรณ์ หรือ Hardware ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนงานใน 3 ด้าน ได้แก่

งานด้านการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และ ระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ผ่านการทำงานของชุดคำสั่งและส่วนชุดอุปกรณ์ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้นั้น ได้ทำการแจ้งจดลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หน่วยอำนวยการและปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EOC กำลังอยู่ในระหว่างการจัดสร้างขึ้นที่ ชั้น 3 อาคารอุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล