ปูตินกร้าว ยุโรปอย่าจุ้นการเมืองในเบลารุส

2020-08-19 07:35:15

ปูตินกร้าว ยุโรปอย่าจุ้นการเมืองในเบลารุส

Advertisement


ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ว่าความพยายามของกองกำลังภายนอกในการแทรกแซงวิกฤตการเมืองในเบลารุสนั้น จะเป็นการยั่วยุ โดยในการโทรศัพท์พูดคุยแยกกันเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีปูตินย้ำว่า การเพิ่มแรงกดดันจากภายนอกต่อผู้นำในเบลารุสนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

ด้านนางแมร์เคิล บอกปูตินว่า รัฐบาลเบลารุสของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ต้องหยุดใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติ, เข้าสู่การเจรจากับฝ่ายค้าน และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันที



ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีขึ้นท่ามกลางการหารือหลากหลายระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู เกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งในเบลารุส บรรดารัฐมนตรีอียูเห็นพ้องต้องกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้กำหนดเป้าหมายใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ และนักการเมืองในโปแลนด์และลิทัวเนีย และประเทศอื่น ๆ ก็ผลักดันให้มีการแทรกแซงในระดับต่าง ๆ

ส่วนแถลงการณ์ของทำเนียบเครมลิน ระบุว่า ฝ่ายต่าง ๆ ที่มีการหารือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเบลารุส หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความพยายามของต่างชาติในการแทรกแซงกิจการภายในของเบลารุสนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และอาจเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น และสรุปว่า หวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



พอถึงช่วงบ่ายวันอังคาร ปูตินก็ได้พูดคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีมาครง ซึ่งมีการรือสถานการณ์ในลิเบียด้วย และเมื่อมีการหารือสถานการณ์ที่ยุ่งยากในเบลารุส ปูตินย้ำว่า การแทรกแซงกิจการภายในของเบลารุสและกดดันผู้นำ จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความปรารถนาว่า จะมีการแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ รัสเซียและเบลารุส มีความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรด้านการทหารและทางการเมืองอย่างเป็นทางการต่อกัน ผ่านองค์การสนธิสัญญความมั่นคงร่วม หรือซีเอสทีโอ, สหภาพเศรษฐกิจยูราเซียน หรืออีอียู และข้อตกลงรัฐสหภาพ

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ก็กล่าวหาพรรคฝ่ายค้านว่าพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเขากล่าวว่า การที่บรรดาผู้นำฝ่ายค้านจัดตั้งสภาประสานงานร่วมขึ้นมา ถือว่าเป็นความพยายามที่จะยึดอำนาจ

พรรคฝ่ายค้านท้าทายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีลูคาเชนโก ชนะได้คะแนนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมเป็นต้นมา ประชาชนก็พากันประท้วงตามท้องถนน และมีการผละงานประท้วงด้วย โดยกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้งอย่างแพร่หลาย และว่า ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือนางสเวียตลานา ทิคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีกลุ่มสังเกตการณ์อิสระเข้าร่วมด้วย