108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและวิธีดูแลสายตาเบื้องต้น (1)

2017-10-17 14:00:58

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและวิธีดูแลสายตาเบื้องต้น (1)

Advertisement

ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะเริ่มมีการเสื่อมหรือถดถอยของระบบต่างๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น สำหรับสายตาของเราก็เช่นเดียวกัน เราจะเริ่มเห็นการถดถอยของสายตาได้ ตั้งแต่อายุ 30 ปลายๆ หรือ 40 ต้นๆ จะเริ่มสังเกตได้ว่าความชัดเจนและความสามารถในการโฟกัสสายตา เพื่ออ่านหนังสือที่ใกล้เริ่มทำได้ลำบากขึ้น ต้องอาศัยการใส่แว่นอ่านหนังสือไม่เหมือนสมัยเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับอายุ ไม่ใช่โรคที่ต้องกังวลแต่อย่างใด

นอกจากความเสื่อมต่างๆ ที่พบเจอได้ตามธรรมชาติแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางโรคสามารถทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวโดยสังเขป เฉพาะโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย

ตาแห้ง
เป็นภาวะที่ดวงตามีน้ำมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอที่จะเคลือบและให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา ภาวะตาแห้งนี้ เกิดได้ทั้งจากการที่น้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ เช่น อยู่ในที่อากาศแห้งๆ มีลมเป่า หรือมีไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติหรืออุดตัน และจากการที่ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะพบได้มากเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะสตรีหมดประจำเดือนแล้ว การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาคลายเครียดบางกลุ่ม โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคปากแห้งตาแห้ง เป็นต้น

อาการที่พบ ได้แก่ ระคายเคืองตา แสบตา ตาพร่ามัวเป็นพักๆ และอาจพบมีน้ำตาไหลเป็นพักๆ ได้ การที่มีน้ำตาไหลเป็นพักๆ นี้ เป็นการตอบสนองต่อภาวะตาแห้ง โดยดวงตาพยายามสร้างน้ำตาให้ออกมามากขึ้น แต่น้ำตาที่ออกมามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมจึงไม่สามารถให้ความชุ่มชื้นที่เพียงพอแก่ดวงตาได้

การรักษาเบื้องต้น ได้แก่ หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แดดจ้า ลม ฝุ่น ละออง ร่วมกับทำความสะอาดเปลือกตาในผู้ที่มีไขมันเปลือกตาผิดปกติ และใช้น้ำตาเทียมควบคู่กันไปด้วย ในรายที่ตาแห้งมากอาจพิจารณาใช้ยาหยอดอื่นๆ เสริมหรือการรักษาโดยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การอุดท่อน้ำตา เป็นต้น

ต้อลมและต้อเนื้อ
“ต้อลม” เป็นภาวะที่เยื่อบุตาขาวบริเวณขอบตาดำมีการหนาตัวขึ้น เห็นเป็นสีขาวออกเหลือง หากเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จะพัฒนาไปเป็นแผ่นเนื้อยื่นเข้ามาในตาดำ หรือที่เรียกว่า “ต้อเนื้อ” ทั้งสองภาวะนี้เกิดจากแสงแดด UV เป็นหลัก

ต้อลมและต้อเนื้อ โดยทั่วไปไม่อันตรายอะไร แต่อาจมีผลในแง่ของความสวยงามและอาจทำให้ระคายเคืองตาได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกกระตุ้นด้วย ลม แดด ฝุ่น หรืออากาศแห้งๆ ทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้น ยิ่งอักเสบบ่อยครั้ง ต้อเนื้อก็จะลุกลามเข้าตาดำมากขึ้น ซึ่งถ้าเข้ามาในตาดำมากอาจส่งผลให้มีการมองเห็นผิดปกติได้

วิธีการดูแลที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดต้อลมต้อเนื้อขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงการโดนแสง UV เช่น ใส่แว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปโดนแสงจ้า แต่หากเป็นแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และหากมีการอักเสบเกิดขึ้นก็สามารถใช้ยาลดอักเสบหยอดได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด จะพิจารณาทำในต้อเนื้อที่เข้ามาในตาดำมากๆ ทำให้มีสายตาเอียงมาก มีการกลอกตาผิดปกติ ในรายที่ต้อเนื้อมีการอักเสบบ่อยๆ หรือในผู้ป่วยที่กังกลในแง่ความสวยงาม

วิธีการผ่าตัดที่นิยม ได้แก่ การลอกและตัดต้อเนื้อออกและใช้เยื่อบุตาจากบริเวณอื่นมาเย็บปะแทน ต้อเนื้อนี้สามารถเกิดซ้ำได้หลังผ่าตัด โดยเฉพาะในคนอายุน้อย และในคนที่มีการอักเสบซ้ำบ่อยๆ หลังผ่า

ต้อกระจก 
ภาวะนี้ถือเป็นความเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาที่เคยใส่ก็จะเริ่มขุ่นเข้มขึ้นตามอายุ และความสามารถในการปรับระยะโฟกัสก็จะเริ่มแย่ลง โดยจะเริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปี 



อาการของต้อกระจกระยะแรกเริ่ม ได้แก่ มีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคงที่มานาน เป็นได้ทั้ง สายตาสั้น ยาว หรือเอียงมากขึ้น โดยมักมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในคนที่สายตาปกติสมัยหนุ่มสาว พออายุเริ่มมากขึ้น เริ่มต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ เมื่ออายุมากขึ้นไปอีกเริ่มมีต้อกระจกมากขึ้น กลับอ่านหนังสือได้อีกครั้งแม้ไม่ใส่แว่นอ่านหนังสือ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการอื่นๆ ของต้อกระจก ได้แก่ ความคมชัดเริ่มลดลง คล้ายมีฝ้าหมอกบัง เห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นแฉกๆ เห็นภาพซ้อนเหลื่อมกัน เมื่อมองด้วยตาข้างที่มีต้อกระจก อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจกนอกจากอายุ ได้แก่ การโดนแสงแดดมากๆ การสูบบุหรี่ การใช้ยาหยอดตา หรือยากินจำพวกสเตียรอยด์ การที่เคยมีตาอักเสบหรือเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน เป็นต้น


ต้อกระจกนี้สามารถรักษาได้ด้วยการทำผ่าตัด นำเลนส์ตาที่ขุ่นออกไปและใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งจะเป็นการปรับค่าสายตาสั้นยาวที่มีอยู่เดิมไปพร้อมกัน ปัจจุบันนี้มีเลนส์ตาเทียมให้เลือกใช้หลายชนิด ต่างกันไปตามความต้องการในการใช้สายตาของแต่ละคน โดยทั่วไปเลนส์ตาเทียมนี้ไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำอีก มีอายุการใช้งานได้ตลอดชีวิต

การพิจารณาผ่าตัดต้อกระจก จะทำเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละคนมีความต้องการความคมชัดของสายตาในชีวิตประจำวันแตกต่างกันไป เช่น ในคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือทำการฝีมือ อาจพิจารณาผ่าตัดเร็วกว่าคนที่ชอบทำกับข้าวหรือทำสวน เป็นต้น

การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน นิยมทำแบบแผลเล็ก ซึ่งสามารถทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน โดยใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ขนาดเล็กเข้าไปสลายต้อกระจก แต่หากต้อกระจกเป็นมากขึ้นจนแข็งมากหรือต้อกระจกสุก อาจพิจารณาให้การผ่าตัดแบบแผลใหญ่แทน ซึ่งท้ายสุดให้ผลการรักษาไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่แบบแผลใหญ่ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูสายตานานกว่า




อ.พญ.ธาริกานต์ สุจิระกุล
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล