"ม็อบ" จัดระเบียบใหม่ เป้าหมายชัดเจนไม่แตะสถาบัน

2020-08-17 11:30:19

"ม็อบ" จัดระเบียบใหม่ เป้าหมายชัดเจนไม่แตะสถาบัน

Advertisement

ผ่านไปอย่างเข้มข้น เร้าใจ ผสมความระทึก สำหรับ "ม็อบ" ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปปไตย 16 สิงหาคม 2563


เริ่มตั้งแต่กรณี "ม็อบ" ชน "ม็อบ" เมื่อกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันและแนวร่วมในนาม ศอปส. นัดรวมตัวสถานที่เดียวกันตั้งแต่ 11.00 น.เพื่อชิงพื้นที่รอบอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินก่อน

แล้วก็ไปตามนัดจริงๆ ท่ามกลางตำรวจหลาย สน. ถูกส่งไปประจำการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาทางระงับเหตุไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า และป้องกันไม่ให้บานปลายกลายเป็น "ม็อบ" ชน "ม็อบ"

โชคดีที่การเจรจากับ ศอปส. สามารถบรรลุข้อตกลงให้แยกสลายตัวได้สำเร็จก่อนถึงช่วงเย็น ที่แนวร่วมประชาชนปลดแอกเริ่มทยอยเดินทางไปรวมตัวตามกำหนดการเดิมเช่นกัน ทำให้ความตึงเครียดลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ จะโดยเหตุผลลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้า หรือประเมินคนเข้าร่วมชุมนุมจะมากน้อยกว่ากันชัดเจนจนอาจมีรายการ "เสียหน้า" หรืออะไรก็ตามที ถือเป็น "สลักแรก" ที่ถูกถอดออกไปได้

ถัดมาคือการผ่อนปรนการใช้พื้นที่ชุมนุมของตำรวจเจ้าของท้องที่และระดับนโยบายที่ไม่แข็งขืนไปต้านทานหรือยับยั้งการรวมตัวและตั้งเวทีปราศรัยของผู้ชุมนุม จึงไม่เกิดภาพยื้อยุดฉุดกระชากโดยมีแผงกั้นรั้วเหล็กเป็นตัวคั่นกลางระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างที่เคยมีปรากฎก่อนหน้านี้ ส่วนจะปล่อยให้จัดกิจกรรมไปก่อน แล้วค่อยเช็กบิลตั้งข้อหาทีหลังเหมือนเหตุการณ์ 18 กรกฎาคมหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไป

ที่น่าสนใจและถูกจับตาจากผู้คนทั่วไปมากที่สุด คือรูปแบบและเนื้อหาของการชุมนุม จะยังคงเน้น 3 ข้อหลักคือ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ รัฐบาลยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชนเหมือนเดิมหรือไม่ หรือจะพ่วงเงื่อนไขอื่น โดยเฉพาะ 10 ข้อที่เกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูงโดยตรงเหมือนเวทีที่ลานพระยานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม หรือไม่

เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ส่งผลถึงท่าทีของประชาชนทั่วไปที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างปฏิเสธไม่ได้ และยังเป็นเรื่องบานปลายไปถึงผู้บริหาร มธ. กรณีอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงาน และการร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คำถามประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลใจนี้ ได้มีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนจากเวทีชุมนุม ที่ยังย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิม ภายใต้ 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ขณะที่ 2 แกนนำสำคัญจากกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 10 สิงหาคม ทั้ง "เพนกวิน" พริษฐ์ ชีวารักษ์ และ "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แม้จะไปปรากฎตัวร่วมชุมนุม แต่ไม่มีรายชื่อบนเวทีปราศรัย และยังเดินทางกลับก่อนการชุมนุมจะยุติ


เป็นเหตุการณ์ที่สื่อยักษ์ใหญ่ค่ายไทยโพสต์ นำไปเป็นประเด็นพาดหัวตัวไม้ "สะพัด! ม็อบแตกคอ" รายงานอ้างอิงว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสถาบันของเพนกวินถูกปฏิเสธจากแกนนำประชาชนปลดแอกไม่อ่านบนเวทีให้ ทำให้เกิดภาพ "แย่งซีน" เดินชูป้ายและโปรยใบปลิวข้อเรียกร้อง 10 ข้อของเพนกวินกลางกลุ่มผู้ชุมนุมแทน

แต่จะถึงขั้นแตกคอกันจริงหรือไม่ หรือแค่ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะกรณีเมื่อมีหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหว อาจมีข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขแตกต่างกันไปบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติของการชุมนุม

แต่ที่เห็นชัดเจน คือ การจัดระเบียบและรูปแบบการปราศรัยที่หลากหลายของกลุ่มประชาชนปลดแอกผู้จัดงาน คนขึ้นไฮปาร์คบนเวทีส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักกันดีของเวทีชุมนุม แต่จะเน้นคนหน้าใหม่ๆ ขึ้นพูดเดี่ยวก็มี ขึ้นเป็นกลุ่มก็มี หลากหลายกระทั่งเพศสภาพ และเด็กนักเรียนมัธยมปลาย ที่ลีลาการพูดและการหยิบยกประเด็นขึ้นพูด ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าทึ่งสำหรับมุมมองและแนวคิดของคนในวัยนี้

เป้าหมายสู่การเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้อง ก็มีขั้นมีตอนรองรับ ไม่มั่วสะเปะสะปะมะรุมมะตุ้ม อย่างกรณีแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการให้ตัด มาตรา 269-272 ซึ่งว่าด้วยที่มา บทบาท อำนาจ หน้าที่ ส.ว. ออกไป โดยขีดเส้นเงื่อนเวลาไว้ภายในเดือนกันยายนนี้


อันเป็นช่วงเวลาที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะพักการเคลื่อนไหวชั่วคราว ต้องกลับคืนเข้่าสู่เวทีการศึกษา กลับสู่ห้องสอบตามหน้าที่พึงกระทำของตนเอง

แต่หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนอง พวกเขาจะกลับมาใหม่ และคนที่ต่างวัยต่างเจนเนอเรชั่นจากพวกเขา ย่อมคาดการณ์ได้ยากว่ารูปแบบและวิธีการต่อสู้ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร จะมาไม้ไหนอีก อย่าลืมว่าขณะนี้ มีภาคีเครือข่ายระดับประเทศช่วยหนุนการชุมนุมอีกต่างหาก

จึงไม่ควรประมาท และปรามาสม็อบฟันน้ำนมเหล่านี้โดยเด็ดขาดเชียวครับ