"สวนดุสิตโพล"ชี้ ปชช.อยากให้แก้ ศก. กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน

2020-08-16 08:29:21

"สวนดุสิตโพล"ชี้ ปชช.อยากให้แก้ ศก. กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน

Advertisement

"สวนดุสิตโพล"เผยผลสำรวจประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน ต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อให้มีกำลังในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ระดมสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” กลุ่มตัวอย่าง 1,109 คน สำรวจระหว่างวันที่ 10 – 14 ส.ค.2563  พบว่า ในระดับครัวเรือน ประชาชนอยากให้เน้นสร้างงานสร้างอาชีพมากที่สุด ร้อยละ 85.75 ในระดับชุมชน/ท้องถิ่น อยากให้ช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 72.14 และ ในระดับประเทศ อยากให้เน้นส่งเสริมภาคการเกษตร ร้อยละ 76.19 โดยเรื่องที่ควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ คือ เน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 75.20 ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานควรเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด ร้อยละ 77.36 รองลงมาคือ รัฐบาล ร้อยละ 70.83 และเอกชน ร้อยละ 70.11

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยเผชิญภาวะการณ์เศรษฐกิจถดถอยมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามากระทบซ้ำ จึงก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน ต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อให้มีกำลังในการอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้มีการปรับทัพ ครม. ใหม่ มีทีมเศรษฐกิจใหม่ ประชาชนก็ยิ่งคาดหวังว่า รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในวันนี้ประชาชนก็ได้สะท้อนความคิดเห็นวิธีการแก้ปัญหา ในมุมมองของประชาชนแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะรับลูกดำเนินการอย่างไรต่อไป

ดร.ศิริ ชะระอ่ำ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ประเมินสมัยใหม่ ผอ.กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ผลการสำรวจข้างต้นของสวนดุสิตโพล สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของ World Bank ที่ระบุถึงมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย สามด้าน คือ หนึ่ง การมุ่งเน้นการสร้างงานภายในประเทศ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ สอง การเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงาน พัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มล่าง และ สาม การสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและทรัพยากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด เพราะยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน