"อิสระ"เผยครูหนี้ท่วมรวม 1.4 ล้านล้าน แนะปรับเงื่อนไขกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ แก้หนี้นอกระบบ ปรับวินัยการเงินคืนครูกลับสู่ห้องเรียน
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่รัฐสภา นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปีตย์ (ปชป.) อภิปรายในสภาฯ ระหว่างการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปด้านการศึกษาและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านการศึกษา(การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู) ว่า ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่าเหตุใด สภาฯจึงให้ความสำคัญกับครู และหนี้สินของครู อาชีพอื่นๆที่มีภาระหนี้สินก็มีอีกหลายอาชีพ ตนจึงขอยกตัวอย่างชีวิตของนางบังอร ที่เป็นครูที่จ.ขอนแก่น มาแล้ว 8 ปี มีเงินเดือนสุทธิ 22,000 บาท พอหักค่าผ่อนบ้านทาวเฮ้าท์เดือนละ 9,000 บาท ค่าผ่อนรถยนต์มือสอง 4,500 บาท ค่าอาหารของตัวเองเเละลูกกว่า 1 หมื่นบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รวมนางบังอรติดลบต่อเดือนไปแล้วกว่า 2,000 บาท เป็นตัวอย่างสะท้อนคุณภาพชีวิตครู ที่เหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เผชิญกับกับดักหนี้สิน จากรายงานการศึกษาปี 2561 ระบุว่า จำนวนครูมีมากถึง 7 แสนคน จำนวนหนี้ของครูจึงมีมหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศ หรือ 16 เปอร์เซ็นต์ ของมวลหนี้ประเทศ การแก้ไขหนี้สินครูจึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเดียวอีกต่อไป
นายอิสระ กล่าวว่า หนี้สินที่เหมือนเพลิงไหม้ ที่กำลังเผาผลาญครูแม่พิมของชาติ เมื่อแม่พิมพ์บิดเบี้ยวจะไปเป็นเบ้าหลอมให้ใครได้ โดยต้นเพลิงมีหลายส่วน อาทิ ครูมีรายรับต่ำเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่สูงกว่าอาชีพอื่น เช่น ค่าเสื้อกีฬาสี ค่าสื่อการสอนที่ไม่สามารถเบิกได้ ความมีเกียรติของครูมาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา ทำให้ต้องเป็นนกน้อยทำรังเกินตัว ทั้งบ้าน รถ โรงเรียนของลูก รวมถึงภาษีสังคมต่างๆ เช่น ใส่ซองงานบุญ งานบวช งานเเต่ง แม้ไม่มีเงินก็ต้องหามาใส่ซอง พอถึงสิ้นเดือนก็หน้ามืด วงจรชีวิตวนเวียนอยู่กับการกู้ ค้ำและโปะ แหล่งเงินกู้ที่ง่ายที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ 109 แห่งทั่วประเทศ ไม่แปลกที่หนี้สินครูจึงสูง เวลานี้มีประมาณ 8 แสนล้านบาท สหกรณ์จึงขาดดุลเพราะมีคนกู้มากกว่าฝาก จึงต้องรีบแก้ไข
"ผมมีข้อเสนอหลายมิติ คือ มิติเรื่องนโยบายการเงินการคลังต้องปรับลดดอกเบี้ย เงื่อนไขการปล่อยกู้ให้ครู ต้องเข้มงวดเรื่องของการวนค้ำประกันเงินกู้ ไม่อย่างนั้นจะล้มเป็นโดมิโน่ ต้องนำหนี้เงินกู้นอกระบบเข้ามาในระบบ ถึงเวลาแล้วที่ครูต้องพัฒนาทักษะด้านวินัยการเงิน การยับยั้งชั่งใจ เพื่อพัฒนานำทักษะดังกล่าวเข้าไปสู่ห้องเรียนต่อไป ถ้าสมการชีวิตครูไม่ต้องวนเวียนกับการชักหน้าไม่ถึงหลังอีกแล้ว เท่ากับการคืนครูสู่ห้องเรียน สร้างดอกผลทางการศึกษาอย่างแท้จริง"
นายอิสระ กล่าว