“สัณหพจน์” ระบุสังคมตั้งคำถาม กระบวนการยุติธรรมคดี “บอส” หวังอัยการ ตำรวจ ทำงานตรงไปตรงมา
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 นครศรีธรรมราช โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ เปิดเผยว่า จากการประชุมของคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีเข้าชี้แจงทั้งหมด 5 ท่าน คือ 1.พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผช.ผบ.ตร 2.พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี สตช. 3.พล.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จ.สมุทรปราการ 4.พล.ต.ต.สามารถ ศรีสิริวิบูลย์ชัย ผบก.น.5 และ 5.พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ
ทั้งนี้จากการชี้แจงบางส่วน พบว่าสารที่เกิดขึ้นในเลือดในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังจากการเสพไม่ชัดว่าเป็นจากสาเหตุจากยาอะไร ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการตรวจจากสาขาวิชานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีหนังสือที่ น.395/ 2555 วันที่ 1 .ค. 2555 เรื่องข้อมูลสารแปลกปลอมในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ตามที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อขอทราบข้อมูลดังต่อไปนี้
1.Alprazolam (อัลพาโซแลม) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯโดยทางการแพทย์อาจใช้เป็นยานอนหลับหรือยาแก้โรคทางจิตประสาทและสามารถพบในปัสสาวะได้นานถึง 3-4 วัน ภายหลังได้รับ
2.Benzoylecgonine เป็นสารที่เกิดขึ้นในเลือดในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย (Metabolism) หลังเกิดจากการเสพ Cocaine(โคเคน) ซึ่งโคเคนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ โดยโคเคนปกติจะไม่พบปนอยู่ในยาหรืออาหารและสามารถอยู่ในเลือดได้นานถึง 18 ถึง 24 ชั่วโมง ภายหลังร่างกายได้รับ
3.Cocaethylene เป็นสารที่เกิดขึ้นในเลือดในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย (Metabolism) หลังจากเสพ Cocaine ร่วมกับแอลกอฮอล์
4.Caffeine (คาเฟอีน) ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไม่เป็นวัตถุประสานตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทโดยเป็นสารที่พบในชา กาแฟ เครื่องดื่มน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ เป็นต้น และสามารถพบในปัสสาวะได้นานถึง 2 ถึง 3 วันหลังร่างกายได้รับ
นอกจากนี้ผู้เข้าชี้แจงยังได้กล่าวอ้างถึงข้อมูลของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งได้ส่งความเห็นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2562 โดยให้ข้อมูลบนสมมุติฐานของตนเองในการคำนวณความเร็วรถเฟอร์รารี่ ในวันเกิดเหตุมีความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต่างจากผลของการคำนวณบนฐานของสูตรการคำนวณทางวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“น่าแปลกใจที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ได้ให้ข้อมูลกับ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมาย) ว่าได้ใช้สมมุติฐานของตนเองในการคำนวณความเร็ว ทั้งๆที่มีหลักวิศวกรรมที่สามารถคำนวณได้ชัด บนสูตรของการคำนวณ v=s/t ตามเอกสารแนบของ รศ.ดร.ศุภชัย ที่เผยแพร่การคำนวณผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว และเหมือนกับทุกๆคนที่ได้ศึกษามา ยืนยันว่าหลักสูตรทุกมหาลัยคำนวณมาใช้สูตรเดียวกัน โดยผลของการคำนวณดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับกาคำนวณบนฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร.ศ. ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่ง รศ.ดร.ศุภชัย ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนผมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจพ.ในอดีต และปัจจุบันสอนลูกศิษย์มาหลายหมื่นคน จนได้ดิบได้ดีมามากมาย แต่วันนี้ท่าน รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ออกมาในฐานะที่ท่านเคยเรียนจบ ป.โท จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงทำให้คณะอาจารย์และพี่น้องร่วมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครพระนครเหนือหลายท่านเกิดความไม่สบายใจ” นายสัณหพจน์ กล่าว
นายสัณหพจน์ กล่าวต่อว่า จากการคำนวณดังกล่าว ได้อ้างอิงถึงความคลาดเคลื่อนของเลนส์กล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นเลนส์แบบนูน แล้วทำให้เกิดความผิดพลาดในการคำนวณ ถามว่าแล้วทำไมการคำนวณของกล้องวงจรปิดเลนส์แบบนูนที่ส่งใบสั่งการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายจราจรไปถึงชาวบ้านประชาชนทั่วทั้งประเทศไทยถึงใช้ความเร็วนั้นในการออกกำหนดความผิด ทั้งๆที่เป็นกล้องชนิดเดียวกันหรือเป็นกล้องชนิดพิเศษที่ยี่ห้อต่างกันเฉพาะจุดเกิดเหตุการณ์เท่านั้น ดังนั้น ในกรณีนี้ จึงอยากขอร้องให้กระบวนการทำงานที่เริ่มต้นจากการพิสูจน์หลักฐาน สรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ และการพิจารณาอัยการ ต้องมีความตรงไปตรงมาสามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ชัดเจน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ยังคงยืนอยู่บนหลักการการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนคนไทยทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น