ศาลแพ่งสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบกรณีภาคประชาชนยื่นฟ้อง "บิ๊กตู่" ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุจำกัดเสรีภาพการชุมนุม ชี้ปัจจุบันมีการออกข้อกำหนดใหม่ประชาชนมีสิทธิชุมนุมตามขอบเขตกฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (People GO Network) พร้อมคณะเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขดำ พ.3454/2563 กรณีเครือข่าย นำโดย นายนิมิตร์ น.ส.แสงสิริ ตรีมรรคา นายณัฐวุฒิ อุปปะ, นายวศิน พงษ์เก่า และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นโจทก์ที่ 1-5 ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์ทั้งห้าจะยื่นคำฟ้อง มีโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย จำเลยจึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และประกาศขยายระยะเวลาอีกถึงวันที่ 31 ก.ค.2563 และออกข้อกำหนดห้ามชุมนุม ซึ่งเป็นข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้งห้า หลังจากนั้นจำเลยออกประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 28 ก.ค.2563 ซึ่งมีผลบังคับระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค.2563 และจำเลยประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 เป็นต้นไป โดยข้อกำหนดล่าสุด ระบุว่าข้อ 1. การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เห็นได้ชัดว่าข้อกำหนดใหม่ดังกล่าวแตกต่างและเป็นการผ่อนคลายจากข้อกำหนดตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว ดังนั้น ขณะนี้โจทก์ทั้งห้าจึงมีเสรีภาพในการชุมนุม ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ถึงกับต้องห้ามชุมนุมทุกกรณีเช่นเดียวกับขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย.2563 และข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่มีประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่าย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ