อัยการแจง 7 เหตุผล สั่งไม่ฟ้อง “บอส” ชี้การตรวจพบสารเสพติดไม่มีในสำนวน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเผยแพร่เอกสารลงวันที่ 31 ก.ค.2563 ระบุชื่อของ น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายญา ชี้แจงเกณฑ์การพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการ ระบุว่า
1. เกณฑ์มาตรฐานที่พนักงานอัยการใช้ในการพิจารณาสั่งคดี คือ คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่คำว่า “พยานหลักฐานพอฟ้อง” ไม่ใช่เรื่องความเชื่อหรือความรู้สึก แต่เป็นการตรวจดูจากในสำนวนการสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำไปพิสูจน์ให้ศาลลงโทษจำเลย (ผู้ต้องหา) ตามข้อกล่าวหานั้นหรือไม่
2. คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานในทางยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหลักฐานสำคัญที่พนักงานสอบสวนใช้ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหา ได้แก่ ภาพเคลื่อนไหวช่วงก่อนเกิดเหตุที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดประกอบกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของตำรวจที่คำนวณอัตราความเร็วของรถคันเกิดเหตุระยะครูดของรถจักรยานยนต์บนถนน และสภาพรถคันเกิดเหตุทั้งสองคันซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของตำรวจที่คำนวณอัตราความเร็วของรถคันเกิดเหตุ ให้การว่า คำนวณอัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้การว่า ตามที่คำนวณไว้เดิมเป็นการคำนวณผิดที่ถูกต้อง คือ อัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุอยู่ที่ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และปรากฏว่า จากการสอบสวนเพิ่มเติมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์และการพิสูจน์เหตุจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าฯ ยืนยันวจากการคำนวณตามหลักวิชาการโดยได้พิจารณาทั้งในเรื่องภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกจากกล้องวงจรปิด ระยะครูดของรถจักรยานยนต์บนถนนและสภาพรถคันเกิดเหตุทั้งสองคันอัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุอยู่ที่ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสำนวนคดีไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาหักล้างการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองรายดังกล่าว พนักงานอัยการจึงย่อมต้องรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามคำยืนยันของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวสำนวนคดี จึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเกิดเหตุ
3. ส่วนประจักษ์พยานสองคนซึ่งมาให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมโดยคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น นอกจากมีการสอบถามข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการ สนช. อันเป็นการกลั่นกรองมาในระดับหนึ่ง และมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ซึ่งพยานทั้งสองคนมีตัวตนและที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คนหนึ่งมียศพลอากาศโท ที่สำคัญคือพยานทั้งสองคนย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอันมีโทษทางอาญา หากให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวน ดังนั้น เมื่อคดีไม่มีพยานบุคคลอื่นใดที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุมาให้การเป็นอย่างอื่นและไม่มีพยานหลักฐานที่กล่าวอ้างหรือโต้แย้งว่าพยานทั้งสองคนดังกล่าวให้การเท็จจึงย่อมไม่มีเหตุผลที่พนักงานอัยการจะอนุมานเอาเองได้ว่าพยานทั้งสองคนดังกล่าวให้การเท็จ หากแต่พนักงานอัยการก็ย่อมต้องรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบกันกับพยานหลักฐานอื่นๆ ในสำนวนคดี และเมื่อพยานทั้งสองคนดังกล่าวต่างให้การว่าตนขับรถตามหลังรถยนต์ที่ผู้ต้องหาขับในช่วงเกิดเหตุในความเร็วระดับเดียวกันไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายขับตัดจากเลนที่หนึ่งจากซ้ายมือมาตัดหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาในเลนที่สามจากซ้ายมือในระยะกระชั้นชิด โดยไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนหักล้าง หรือโต้แย้งเป็นอย่างอื่นอีกทั้งยังสอดคล้องกับจุดชนที่อยู่เลนที่สามจากซ้ายมือและสอดคล้องกับคำให้การยืนยันของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองรายดังกล่าวคดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามข้อกล่าวหาได้ การสั่งไม่ฟ้องเพราะเหตุพยานหลักฐานไม่พอฟ้องจึงชอบด้วยเหตุผลและเกณฑ์การสั่งคดีอาญาแล้ว
4. แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 74 วรรคสองบัญญัติว่าในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ซึ่งจะต้องประกอบกับพยานหลักฐานอื่นโดยหากอาศัยลำพังข้อสันนิษฐานดังกล่าวเพียงอย่างเดียว แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้อ้างเป็นเหตุในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตายนั้นได้และเมื่อพยานหลักฐานอื่นในสำนวนการสอบสวนมีไม่เพียงพอที่จะฟ้องลำพังข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ทำให้คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย
5. ส่วนประเด็นที่ปรากฏตามข่าวว่ามีหนังสือของมหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งพนักงานสอบสวนว่าตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหานั้นไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวน แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานเสพยาเสพติด แต่อย่างใดด้วย
6. อนึ่งการสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสอบสวน และทำการสอบสวนโดยที่พนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย และไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงจากสื่อสารมวลชน หรือจากแหล่งข้อเท็จจริงอื่นใดที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนมาใช้ในการสั่งคดีได้ และแม้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ก็ต้องเป็นเวลาภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและส่งเป็นสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ อีกทั้งการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในทางปฏิบัติย่อมต้องอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นปรากฏในสำนวนการสอบสวนหรือจากประเด็นตามการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาในคดีพนักงานอัยการไม่มีอำนาจไปแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ ได้เอง
7. อย่างไรก็ดี แม้พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเอง นอกจากนี้ ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ก็อาจมีการรื้อฟื้นคดีโดยพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหานั้นใหม่ได้ตามกฎหมาย